Highlight

มองวิกฤตพลังงานจีน ผลกระทบต่อโลกและไทย

12

January

2022

20

November

2021

        เกิดอะไรขึ้น?กับสถานการณ์พลังงานในจีน จนได้รับการพูดถึงในระดับโลก ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะส่งผลกระทบเป็น“โดมิโน่” เมื่อโรงงานหลายแห่งในจีนไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่ตามคำสั่งซื้อ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น

ทำไมไฟฟ้าในจีนขาดแคลน

        จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในสัดส่วนที่สูงถึง 60% ปัญหาไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ มาจากผลพวงหลายๆปัจจัยที่มาบรรจบกัน หัวใจสำคัญมาจากการขาดแคลนถ่านหินซึ่งราคาพุ่งทำสถิติ เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทำให้จีนแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย ขณะที่การผลิตถ่านหินในจีนเองก็ลดลง เนื่องจากมาตรการควบคุมการทำเหมืองที่เข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่

        การเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหินกว่าเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าในจีนปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาค่าไฟถูกควบคุมไว้โดยรัฐบาล ทำให้โรงไฟฟ้าขาดทุน และปรับลดการผลิตกระแสไฟฟ้าลง

        ขณะเดียวกัน จีนยังเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติจากปัญหาโลกร้อน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ทำให้จีนมีการจำกัดการใช้ถ่านหินและควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวด และต้องเปลี่ยนแหล่งผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไปใช้พลังงานอื่นแทน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้  

        ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ต่างช่วยกันบีบเค้นปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ ส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่ใน 20 มณฑลของจีนอาทิ มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลจี๋หลิน และมณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบกับภาวะไฟฟ้าไม่พอใช้ จนต้องประกาศจำกัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ  

        ล่าสุด เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นของจีน เช่น มณฑกวางตุ้ง, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลเจียงซู, มณฑลอานฮุย, มณฑลซานตง มณฑลยูนนาน, มณฑลหูหนาน ฯลฯ ได้ประกาศมาตรการประกาศควบคุมการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการปรับลดการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก, ปูนซีเมนต์, อะลูมิเนียม, ซิลิกอน, ปุ๋ย และเคมี ฯลฯ

หวั่นจีนไฟดับกระทบห่วงโซ่อุปทานโลก  

        บรรดาสื่อตะวันตกรายงานข่าวว่า วิกฤตขาดแคลนพลังงานของจีนเริ่มลุกลามบานปลายส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนั้นกินวงกว้างตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง Toyota ที่โรงงานในเทียนจินและกว่างโจวได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า  

        โรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่หลายรายของ Apple และ Tesla หยุดผลิตในจีนชั่วคราว เพื่อปฏิบัติตามนโยบายการใช้พลังงานของจีนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงักงันในช่วงเวลาที่ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กำลังอยู่ในระดับสูง รวมถึง iPhone รุ่นล่าสุด

        ขณะที่ ASE Technology ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกก็ต้องหยุดการผลิตเป็นเวลาหลายวัน หลายฝ่ายยังมองด้วยว่า หากผลกระทบลุกลามไปถึงการผลิตของ Dell Technologies และ Sony Group อาจทำให้ปัญหาขาดแคลนชิปของโลกรุนแรงขึ้นได้

        ข้อมูลจาก Rabobank ระบุว่า อุตสาหกรรมผลิตลังกระดาษและบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มสินค้าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานของจีน จนโรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว  

        ห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากการขาดแคลนพลังงาน อาจส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของโลก โรงงานแปรรูปถั่วเหลืองหลายแห่งของจีนถูกกดดันให้ต้องปิดหรือลดกำลังการผลิตลงเพื่อประหยัดพลังงาน ทำให้ราคาอาหารสัตว์ น้ำมันพืช และปุ๋ย ปรับเพิ่มสูงขึ้น

        นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่า โรงงานในหลายพื้นที่ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ถูกขอความร่วมมือให้ลดการใช้พลังงานในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูงสุด บ้างก็ถูกขอให้ลดจำนวนวันทำงานลง เช่น โรงงานหลายแห่งในพื้นที่มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหญ่ของจีนต้องปิด 2-3 วัน/สัปดาห์ เพื่อแบ่งสันปันส่วนในการใช้พลังงาน

ทั่วโลกต่างกำลังหวั่นวิตกว่า การขาดแคลนพลังงานในจีนอาจส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตของจีนจะไม่สามารถตอบสนองคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในช่วงสิ้นปีนี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่เงินเฟ้อถีบตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

        ขณะที่มอร์แกนสแตนลีย์คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อาจหายไป 1% หากปัญหาไฟฟ้าดับยังคงยืดเยื้อต่อไป ส่วนโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจาก 8.2% ลงเหลือ 7.8% ด้านโนมูระปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจจีนในปีนี้จาก 8.2% เหลือ 7.7%

        อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการจีนเปิดเผยว่า ภาวะขาดแคลนพลังงานของจีนเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ฟู่ หลิงฮุย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) กล่าวว่า ราคาพลังงานระหว่างประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงอุปทานถ่านหินและไฟฟ้าจีนที่ตึงตัว ก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในบางภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วไป อย่างไรก็ตาม จีนได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมอุปทานพลังงานและราคาไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ขณะที่มาตรการเหล่านี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ วิกฤตการณ์พลังงานจะเริ่มคลี่คลาย และผลกระทบต่อการดำเนินงานทางเศรษฐกิจจะลดลง

ผลกระทบลามถึงไทย ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบพุ่ง

        “ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย แน่นอนว่าวิกฤตพลังงานในจีนที่ส่งผลกระทบต่อโรงงานผู้ผลิตสินค้าของจีนในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีนด้วย” เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อไทย“ฐานเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งระบุว่า การลดกำลังการผลิต หรือการหยุดชะงักของโรงงานผลิตสินค้าในจีน จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยที่จีนนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าเพื่อส่งออกลดลง อาทิ ยางพารา ไม้ยางพารา มันสำปะหลัง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จีนปรับลดการผลิตลงจะส่งผลกระทบสินค้าในตลาดโลก เช่น สินค้าที่จีนส่งออกไปยุโรป หรือสหรัฐฯ จะเริ่มขาดตลาด

        “ นอกจากนี้ จากวิกฤตขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น ประกอบกับเวลานี้เงินบาทอ่อนค่า (ระดับ 33บาท) และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเวลานี้ ทำให้สินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีนปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น” รองประธาน ส.อ.ท. ระบุ

บรรยายภาพ : อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงอย่างเหล็กและอลูมิเนียม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกลดจำนวนการผลิต

        ด้าน ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในจีนครั้งนี้ต่อสินค้าไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรก การปรับลดกำลังผลิตของโรงงานผลิตในจีนจะกระทบสินค้าวัตถุดิบที่จีนนำเข้าจากไทยลดลง เช่น ยางพารา ไม้ยางพาราชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

        กรณีที่ 2 สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศที่ 3 อาจได้รับอานิสงส์ส่งออกทดแทนสินค้าจีนที่ขาดแคลนได้เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดอื่นๆ เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ล้อยางรถยนต์ (ส่วนหนึ่งผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีนมาตั้งฐานผลิตในไทยส่งออก)

        “ภาพผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากวิกฤตพลังงานในจีนจะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าสถานการณ์จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการของไทยต้องเตรียมรับมือ เพราะจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อการนำเข้าและส่งออกของไทย” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ

สินค้าอะไรบ้างเสี่ยงขาดตลาด

        ด้านรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไทยจากสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานของจีน โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นสำคัญ

  1. วิกฤตพลังงานในจีนที่ขาดแคลน ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง โดยจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 ของไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
  2. จีนอาจมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น และมีเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จีนจะส่งออกเงินเฟ้อมายังไทย ประกอบกับไทยมีการนำเข้าสุทธิจากจีนจำนวนมาก ซึ่งต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่จีนส่งออกมายังไทยสูงขึ้นตามไปด้วย
  3. จากวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในจีน อุตสาหกรรมเหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ อุตสาหกรรมกระดาษ และแก้ว ฯลฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกลดจำนวนการผลิต ทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังไทยอาจมีปริมาณลดลง
  4. ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ซึ่งวิกฤตพลังงานในจีนจะทำให้โรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้ลดกำลังการผลิตลง ทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก่อให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด

ผลกระทบและโอกาสต่ออุตสาหกรรมไทย  

        จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการวิเคราะห์ของ ศิระประภา เอื้อวิวัฒน์สกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ. ประเมินว่า  สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนได้น้อยลง เนื่องจากจีนอาจมีการลดกำลังการผลิตและแปรรูปสินค้าลดลงจากการจำกัดการใช้พลังงานในประเทศ ได้แก่ เม็ดพลาสติก, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

        นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากจีน เพื่อใช้ในการผลิตหรือแปรรูปสินค้าในประเทศ อาทิ สินค้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เหล็ก, แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงไป โดยพัฒนาสินค้าและหาตลาดใหม่เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

        อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่สินค้าอุตสาหกรรมจีนอาจจะผลิตลดลงจากการจำกัดการใช้พลังงานในประเทศ และยังมีความต้องการในประเทศ ในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่จะส่งออกเพื่อทดแทนสินค้าที่จีนมีการผลิตและส่งออกลดลง ได้แก่

  1. สินค้าเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สินค้าวงจรรวม (Integrated Circuit/IC)
  2. สินค้าอาหารเช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง, กุ้งแช่แข็ง.อาหารปรุงแต่ง เป็นต้น
  3. สินค้าเม็ดพลาสติก เช่น เม็ดพลาสติกชีวภาพ ทั้งแบบพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics) และพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล(biobased -plastics) เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆตลอดจนผู้บริโภค จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  4. สินค้าพลังงาน เช่น เครื่องกังหันไอพ่น และส่วนประกอบของเครื่องกังหันไอพ่น ซึ่งจีนมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดโลกและจีน

นอกจากนี้ นักลงทุนในจีนมีโอกาสที่จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากข้อจำกัดของการใช้พลังงานในจีน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนในจีน โดยรัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ได้แก่

  1. สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาบุคลากร ปรับโครงสร้างการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต
  2. พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย  (S -Curve) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร ประกอบกับอุตสาหกรรมของไทยบางส่วนมีความพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เภสัชภัณฑ์ การแพทย์ครบวงจร
  3. ปรับกฎระเบียบที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย โดยลดกฎระเบียบและขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี
Tags: