โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 Together for a Shared Future
15
February
2022
15
February
2022
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics 2022) เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 แม้โลกจะยังคงตกอยู่ในวงล้อมของการระบาดโควิด
TAP Magazine ฉบับนี้ชวนมาติดตามเรื่องราวและปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของมหกรรมกีฬาครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้จีนในฐานะเจ้าภาพได้รับการจับจ้องมองจากทั่วโลก
กรุงปักกิ่งของจีนนับเป็นเมืองแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว โดยเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2008 ภายใต้สโลแกน "หนึ่งโลก หนึ่งความฝัน" (One World, One Dream)
ขณะที่โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ครั้งนี้ จีนใช้สโลแกน "ก้าวไปสู่อนาคตด้วยกัน" (Together for a Shared Future) เพื่อสะท้อนถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเรียกร้องให้มนุษยชาติผนึกกำลังกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ปิงตุนตุน” และ “เสวี่ยหรงหรง” 2 มาสคอตประจำโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 มาสคอตแพนด้ายักษ์ “ปิงตุนตุน” มาจากคำว่า ‘ปิง’ ที่แปลว่า น้ำแข็ง และ “ตุน” ที่หมายถึง ความจริงใจและน่ารัก ชุดน้ำแข็งที่สวมใส่ได้แรงบันดาลใจจากหมวกนิรภัยที่นักกีฬาสวมใส่ ส่วนมาสคอตโคมไฟสีแดง “เสวี่ยหรงหรง” เป็นสัญลักษณ์ของฤดูเก็บเกี่ยว ความอบอุ่นและแสงไฟ โดยคำว่า ‘เสวี่ย’ หมายถึง หิมะ และ ‘หรงหรง’ หมายถึง ความใจกว้าง ยอมรับความเห็นผู้อื่น
มหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ.2565 โดยมีนักกีฬาเกือบ 3,000 คน จาก 90 ประเทศและเขตพื้นที่มาเข้าร่วมการแข่งขันใน 7 ชนิดกีฬาหลัก รวม 15 ประเภทย่อย เพื่อชิง 109 เหรียญทอง
จีนมุ่งมั่นให้โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ เป็น Green Olympic หรือ “โอลิมปิกสีเขียว” โดยให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พื้นที่จัดการแข่งขันมี 3 สถานที่ กีฬาในร่มจะถูกจัดที่“กรุงปักกิ่ง” โดยดัดแปลงและปรับปรุงสนามกีฬาเดิมที่เคยใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ส่วน “เหยียนชิ่ง” ที่อยู่ห่างจากปักกิ่งไป 75 กม. ถูกใช้เป็นสถานที่แข่งกีฬาสกีอัลไพน์และสไลเดอร์น้ำแข็ง ขณะที่กีฬาสโนว์บอร์ดและกีฬาประเภทสกีส่วนใหญ่ จัดที่“จางเจียโข่ว” อยู่ห่างจากปักกิ่งไป 180 กม. ซึ่งจีนได้สร้างสนามแข่งขันสกี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทางขนส่งและอื่น ๆ เพื่อรองรับการแข่งขัน
หนึ่งในสนามกีฬาที่สำคัญ คือ สนามริ้วริบบิ้นน้ำแข็งสุดล้ำ (Ice Ribbon) ซึ่งจีนสร้างขึ้นสำหรับแข่งสปีดสเก็ตติ้ง เป็นอาคารแข่งกีฬาที่มีหลังคาตาข่ายเป็นรูปวงรีชั้นเดียว ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การก่อสร้างใช้ปริมาณเหล็กเพียง 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับหลังคาอาคารทั่ว ๆ ไป ตัวอาคารความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมที่มีการก่อสร้างและออกแบบที่ซับซ้อนแปลกใหม่ และยังแสดงถึงขีดความสามารถด้านการก่อสร้างของจีน ทั้งในแง่เทคโนโลยีการก่อสร้างและความรวดเร็วในการก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปี ทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็นสนามสเก็ตที่ลื่นไหลที่สุด
อีกสนามแข่งที่เป็นไฮไลท์ คือ สนามกีฬา Ice Cube ที่จีนใช้เทคโนโลยีแปลงน้ำเป็นน้ำแข็ง ดัดแปลง “ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ” หรือ Water Cube ที่เคยใช้จัดการแข่งขันว่ายน้ำในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ให้กลายเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเคอร์ลิ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกฤดูหนาว นอกจากนี้ ยังมีลานสกียักษ์ ศูนย์การแข่งขันสกีกระโดดไกลแห่งชาติ “เสวี่ยหรูอี้” ในเขตฉงหลี่ เมืองจางเจียโข่ว ที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการก่อสร้าง และยังเป็นเส้นทางสกีกระโดดที่ยาวที่สุดในโลก
พิธีเปิดการแช่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 จัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง หรือสนามกีฬารังนก ในวันที่ 4 ก.พ. โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธาน มีผู้แทนจากกว่า 90 ประเทศและเขตพื้นที่เข้าร่วม ซึ่งรวมถึงผู้นำระดับโลกหลายคน อาทิ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย, ฮะลีมะฮ์ ยาคอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์, อัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา และอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ฯลฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าร่วมพิธีเปิด ในครั้งนี้ด้วยตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลจีน โดยมี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมพิธี ไทยได้ส่งนักกีฬาสกี 4 คนร่วมในการแข่งขัน ได้แก่ มรรค จันเหลือง, คาเรน จันเหลือง, นิโคล่า ซาโนน และมิดา ฟ้า ใจมั่น
ผู้รับผิดชอบพิธีเปิดโอลิมปิกฤดหนาวครั้งนี้คือ จาง อี้โหมว ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวจีนผู้โด่งดัง ซึ่งเคยฝากผลงานในพิธีเปิดและปิดโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 มาแล้ว
พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 แตกต่างจากพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ในเวลานั้นมุ่งสื่อถึงการเปิดประตูต้อนรับให้ชาวโลกเข้าใจความเป็นจีน แต่ครั้งนี้ จาง อี้โหมว มองว่า สถานะของจีนในเวทีโลกเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการจึงเป็นการเปิดกว้างมากขึ้น และส่งสารแก่โลกว่าเราควรร่วมมือกัน มุมมองในพิธีเปิดหลาย ๆ ประการเปลี่ยนจาก ‘ฉัน’ มาสู่ ‘เรา’ มโนทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘พวกเราคือหนึ่งเดียว’
จีนเลือกวันจัดพิธีการแข่งขันเปิดตรงกับวันลี่ชุน (立春) วันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นวันสำคัญในวิถีจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 ก.พ. ภายในพิธีเปิดยังมีการแสดงที่สื่อถึงวันลี่ชุน การแสดงดอกไม้ไฟสีเขียวแบบ LED และการจุดพลุคำว่า “SPRING” ซึ่งแปลว่าฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย
พิธีเปิดโอลิมปิกปักกิ่ง 2022 ผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีไฮเทคและแนวคิดโอลิมปิกสีเขียว โดยเฉพาะไฮไลท์การจุดคบเพลิงคอนเซ็ปต์คาร์บอนต่ำ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงในการจุดไฟ มาใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง ผ่านการเนรมิตกระถางคบเพลิงโอลิมปิกทรงเกล็ดหิมะขนาดยักษ์ที่ประกอบด้วยเกล็ดหิมะขนาดเล็กที่สลักชื่อประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขัน
ภายในพิธีเปิดยังมีการเปิดตัวระบบจอภาพความละเอียดสูงระดับ 8K UHD ที่นอกจากจะใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยสร้างความตื่นตาตื่นใจดึงดูดสายตาผู้ชม ขณะที่ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (CMG) ผู้กระจายเสียงทางวิทยุโทรทัศน์รายใหญ่ของจีน ได้เปิดตัว CCTV-8K ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ความละเอียดสูงพิเศษ 8K พร้อมติดตั้งจอขนาดใหญ่ตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันผ่านหน้าจอที่มีความละเอียดสูงระดับ 8K
จีนมุ่งมั่นให้โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ เป็น Green Olympics หรือ “โอลิมปิกสีเขียว” โดยให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ใช้เทคโนโลยีทำน้ำแข็งที่ดีที่สุดในโลก และ "ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์" และถือเป็นครั้งแรกใน “ประวัติศาสตร์โอลิมปิก” ที่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้ประกาศใช้เทคโนโลยี Carbon Dioxide Trans-Critical Direct Cooling ในการทำน้ำแข็ง ซึ่งลดการใช้พลังงานได้กว่า 40% เมื่อเทียบกับวิธีเดิม
จีนยังถือโอกาสของการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว เดินหน้าพัฒนาและสร้างคุณค่าทรัพยากรหิมะและน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง
หอคอยของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Tower) ความสูงเกือบ 120 เมตรซึ่งตั้งอยู่ที่สนามแข่งขันในเหยียนชิ่ง เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่ตอกย้ำถึงความเป็น “โอลิมปิกสีเขียว”และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านนวัตกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ของจีน
นอกจากนี้ จีนยังสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ผ่านการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงไร้คนขับ “จิงจาง” (京张高铁) ซึ่งสามารถลดระยะเวลาเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองจางเจียโข่ว ระยะทางกว่า 170 กม. จาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 56 นาที ขณะที่เมืองจางเจียโข่ว ได้จัดเตรียม “รถพลังงานไฮโดรเจน” จำนวน 655 คันรองรับการขนส่งในพื้นที่จัดการแข่งขัน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ระบบปิดแบบ Bubble and Seal ภายใต้มาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยทุกคนที่เข้าร่วมในมหกรรมการแข่งขันจะต้องอยู่ในระบบปิด ห้ามออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ ไม่มีการขายบัตรให้ประชาชนเข้าชมการแข่งขัน โดยจะมีแค่ผู้ชมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าสนามได้
ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ จีนยังมีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เพื่อลดการสัมผัส สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 อาทิ โรงอาหารอัจฉริยะไร้พ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟ โดยใช้หุ่นยนต์ให้บริการแทนที่มนุษย์ ทั้งหุ่นยนต์พ่อครัวที่สามารถปรุงได้ทั้งอาหารจีนและอาหารฝรั่ง หุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์เตรียมเครื่องดื่ม การใช้เทคโนโลยีระบบเสิร์ฟอาหารแบบอัตโนมัติ
การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับจีนในการเดินหน้าทดสอบระบบดิจิทัลหยวนโดยรัฐบาลจีนได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมมหกรรมการแข่งขันใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน e-CNY ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานเงินดิจิทัลหยวนในการซื้อขายสินค้า
จีนยังถือโอกาสของการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว เดินหน้าพัฒนาและสร้างคุณค่าทรัพยากรหิมะและน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง รายงานเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านหิมะและน้ำแข็งของจีนประจำปี 2022 คาดการณ์ว่า ฤดูท่องเที่ยวหิมะและน้ำแข็งระหว่างปี 2021-2022 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีถึง 305 ล้านคน การท่องเที่ยวด้านหิมะและน้ำแข็งมีโอกาสสร้างรายได้สูงถึง 3.2 แสนล้านหยวน
ในอดีตกีฬาฤดูหนาวในจีนถูกมองว่าเป็นงานอดิเรกสำหรับชาวต่างชาติและมีราคาแพง แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตั้งเป้าส่งเสริมให้ชาวจีน 300 ล้านคนเล่นกีฬาฤดูหนาวภายในปี 2025 ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงหันมาสนใจเล่นสเก็ตน้ำแข็งและสกีกันมากขึ้น เมื่อปี 2015 จีนมีสกีรีสอร์ตเพียง 568 แห่ง ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 770 แห่งในปี 2019 และคาดว่าในปี 2022 จะมีจำนวนทะลุถึง 1,000 แห่ง
โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันของปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจ คือ การพลิกโฉมอำเภอฉงหลี่ จากดินแดนภูเขาที่เคยยากจนในเมืองจางเจียโข่ว ให้กลายเป็นสวรรค์ของนักเล่นสกี และเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เกือบทุกรายการ ในเดือนพ.ค. 2019อำเภอฉงหลี่หลุดพ้นจากความยากจนอย่างเป็นทางการ ประชากรเกือบ 30,000 คน จากทั้งหมด 126,000 คนในอำเภอได้ทำงานในสกีรีสอร์ตหรือบริษัทและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
การเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ จีนไม่เพียงแต่พิสูจน์ให้เห็นว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสามารถทำได้ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ ในยุคที่โลกตกอยู่ในวงล้อมของการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ปักกิ่งเกมส์ 2022 ยังเป็นเวทีแห่งโอกาสสำหรับจีนในการพัฒนาและทำประโยชน์อื่นๆมากมาย รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของจีนสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย