Highlight

Cross-Border E-Commerce โอกาสของธุรกิจไทยในตลาดจีน

27

August

2024

20

March

2022

สัมภาษณ์พิเศษ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

        จีนถือเป็นตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 812 ล้านคน และมีมูลค่าการซื้อขายผ่าน E-Commerce ราว 40.2 ล้านล้านหยวน การเจาะตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross-Border E-Commerce (CBEC) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนที่ต้องการสั่งซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

        ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกมายังจีนโดยผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 14 แผนงานหลักของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2562 ที่ต้องการเร่งผลักดันภาคการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในทุกระดับก้าวสู่การค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross-Border E-Commerce (CBEC) ก็เป็นยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้ภาคการส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตได้ในยุค New Normal จนสามารถสร้างยอดส่งออกได้กว่า 8.5 ล้านล้านบาท เติบโตถึงร้อยละ 17.1 ซึ่งตอกย้ำว่าภาคการส่งออกของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ และเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยพยุงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขณะนี้

        การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นโมเดลของการทำการค้าข้ามประเทศรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์/แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เวลา และกระบวนการบางขั้นตอนในการขายสู่ประเทศปลายทางได้ดีกว่าการขายในรูปแบบปกติ โดยบริษัทต่างชาติไม่จำเป็นต้องเข้ามาเปิดบริษัทในจีนก็สามารถขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนได้

        ภาครัฐของจีนมีการส่งเสริมการค้า Cross-Border E-Commerce โดยได้จัดตั้งพื้นที่ทดลองการค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce Pilot Zone) จำนวน 105 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และศุลกากรของจีนยังได้ร่วมมือกันปรับปรุงนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าทาง E-Commerce ระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนที่สั่งซื้อสินค้านำเข้าผ่านรูปแบบ CBEC หากมีมูลค่าการสั่งซื้อไม่เกิน 5,000 หยวนต่อครั้งและไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยจะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเพื่อการบริโภคเพียงร้อยละ 70 ของอัตราปกติที่เรียกเก็บ นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนทางด้านใบอนุญาตทางสุขอนามัยสำหรับสินค้าบางประเภทด้วย

ร้าน TOPTHAI บน Tmall Global ช่องทางโปรโมทสินค้า หมอนยางพาราไทยในจีน

        อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า CBEC สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับ SMEs ของไทย 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีศุลกากร เนื่องจากเป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้นสำหรับ Cross-Border e-Commerce เท่านั้น  2.ช่วยลดความยุ่งยาก ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่างๆ อาทิ ไม่ต้องขอจดแจ้งอย.ในจีน หรือการไม่ต้องติดฉลากสินค้าภาษาจีนสำหรับสินค้าบางประเภท

        ปัจจุบัน การค้าในรูปแบบ Cross-Border E-Commerce ได้ขยายตัวขึ้นในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขสถิติปี 2564 ของศุลกากรจีนชี้ว่า การนำเข้า-ส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมีมูลค่าสูงถึง 1.98 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 9.9 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นมูลค่าส่งออกจำนวน 1.44 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 7.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 24.5 และเป็นมูลค่านำเข้าจำนวน 540,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมด

        ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความสำเร็จของการค้าผ่าน Cross-Border E-Commerce ในจีน คือการที่จีนมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยผู้บริโภคชาวจีนถือเป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทแบรนด์เนมต่างๆ เช่น กระเป๋า เครื่องสำอาง ขณะที่ผู้คนในเมืองใหญ่ก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Payment) ทำให้การทำธุรกรรมซื้อขายออนไลน์ (Online Shopping) ได้รับความนิยมอย่างมาก

จุุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ไลฟ์สดโปรโมทผลไม้ไทยบน Tmall

        แนวโน้มการเติบโตของ Cross-Border E-Commerce ในจีน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยในการขยายตลาดเพื่อส่งออกสินค้ามายังจีนมากขึ้นด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นจากการศึกษากฎระเบียบและวิธีการเข้าถึงการให้บริการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับผู้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ข้อมูลตลาดออนไลน์ของจีน รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะกำหนดผู้บริโภคเป้าหมายและเว็บไซต์ที่ตรงกับสินค้าได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มรายใหญ่ Tmall Global ของ Alibaba Group ที่ขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จะเน้นขายสินค้าประเภทสุขภาพ เครื่องสำอาง เป็นสินค้าพรีเมี่ยมไปจนถึงสินค้าเเบรนด์เนมที่มีชื่อเสียง จึงมีค่าเปิดร้านค้าค่อนข้างสูง ดังนั้นการเปิดร้านบน Tmall Global จำเป็นต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือสูงเเละมีชื่อเสียง ขณะที่แพลตฟอร์ม JD Worldwide จะเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอันดับต้นๆ ที่ลูกค้าชาวจีนเลือกหาซื้อสินค้าแบรนด์พรีเมี่ยมจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าภายในบ้าน และเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น

        สำหรับสินค้าที่เหมาะสมกับการส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border E-Commerce ควรเป็นสินค้าที่มีปริมาตรและน้ำหนักไม่มาก สินค้ามีอายุการใช้งานนานและหากเป็นอาหารควรมีอายุการเก็บรักษาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยผู้ประกอบการไทยควรดำเนินการจดทะเบียนตราสินค้าในตลาดจีน เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบตราสินค้า ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จในตลาด E-Commerce ในประเทศจีน

DITP กับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสู่จีนผ่าน Cross-Border E-Commerce  

        อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเพื่อขยายตลาดสู่จีนผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce ใน 3 โครงการเพื่อให้สอดรับกับนโยบายหลักของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) โครงการแรก คือ โครงการ TOPTHAI Flagship Store ซึ่งเป็นการเปิดร้านค้าออนไลน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศบน Tmall Global และ Tmall China ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ชั้นนำในตลาดจีน โดยคอนเซ็ปต์ของร้าน TOPTHAI คือ เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าชั้นนำที่มีเอกลักษณ์จากไทยซึ่งผ่านการคัดสรรจากหน่วยงานรัฐบาล ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าสินค้าจากร้าน TOPTHAI จะเป็นสินค้าคุณภาพดีจากไทย

        นอกจากนี้ โครงการ TOPTHAI Flagship Store ยังเป็นโมเดลที่ช่วยให้ SMEs ไทยมีโอกาสทดลองตลาด ช่วยลดต้นทุนในการเปิดร้าน เนื่องจากสามารถขึ้นขายสินค้าบนร้านค้าของกรมฯ จึงช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยทำประชาสัมพันธ์และการตลาดอีกด้วย

        ในปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดสด Live-streaming ภายใต้แคมเปญ “Thai Fruits Golden Months” เพื่อส่งเสริมการขายผลไม้และสินค้าอาหารไทย และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นต่อไปยังผู้บริโภคชาวจีนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Tmall China ในช่วงมหกรรมอีคอมเมิร์ซใหญ่ 6.18 ประจำปีของประเทศจีน ซึ่งในครั้งนั้น มีผู้ชมชาวจีนรับชมไลฟ์สดเวลา 15 นาที บนแพลตฟอร์ม Tmall ยอดการกดไลค์จำนวน 16 ล้านครั้ง ซึ่งนำมาสู่การสั่งซื้อสินค้าผลไม้ไทยและอาหารไทยอื่นๆ ตลอด June Promotion เป็นมูลค่ากว่า 83 ล้านหยวน โดยปัจจุบันเรามีร้านชื่อว่า Thailand Food Country Tmall Official Store ที่ส่งเสริมการขายสินค้าอาหาร เครื่องดื่มและผลไม้ไทยในตลาดออนไลน์จีนด้วย

        “และในส่วนของ Tmall Global เราวางโมเดลร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์ม Tmall Global ในจีนให้เป็นร้านที่จำหน่ายหมอนยางพาราแท้จากประเทศไทย โดยสินค้าหมอนยางพาราที่จำหน่ายในร้านเป็นแบรนด์สินค้าจากบริษัทที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการการันตีคุณภาพสินค้าและรับรองแหล่งผลิตสินค้าในประเทศไทย

        อีกทั้งหมอนยางพาราทุกใบในร้าน TOPTHAI ยังผ่านมาตรฐานการตรวจสอบจากหน่วยงาน C.C.I.C. (China Certification & Inspection Group) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐของจีน (ศุลกากร) ที่รับรองสินค้าในรูปแบบ RFID Tag โดยลูกค้าชาวจีนสามารถสืบค้นข้อมูลแหล่งผลิตของหมอนยางพาราไทยทุกใบแบบย้อนกลับได้ (Traceability) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าในร้าน TOPTHAI ซึ่งแตกต่างจากสินค้าลอกเลียนแบบคุณภาพต่ำในท้องตลาดที่อาจมีการอ้างหรือสวมสิทธิ์ว่าเป็นหมอนยางพาราไทย

        ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการ Cross-Border Solution & Business Matching ซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนด้วยตนเอง โดยกรมฯให้ความช่วยเหลือในการเชิญผู้แทนการค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าร่วมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย เพื่อแนะนำโมเดลธุรกิจ รูปแบบและวิธีการเปิดร้านค้า รวมทั้งให้คำปรึกษาทางธุรกิจจากแพลตฟอร์มพันธมิตรชั้นนำจากต่างประเทศผ่าน Online Webinar ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมาเราได้มีการเชิญแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน อาทิ Tmall Partner, DiDi Global เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสู่จีนผ่าน Cross-Border E-Commerce  

        และอีกหนึ่งช่องทาง ได้แก่ แพลตฟอร์ม Thaitrade.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าส่งในรูปแบบ B2B ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 และสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 10,548 ล้านบาท และนอกจากบริการด้าน B2B แล้ว Thaitrade.com ยังมีบริการที่ส่งเสริมการขายปลีกแบบ Cross-Border E-Commerce ชื่อว่า Thaitrade.com SOOK (Small Order Ok) ที่เปิดโอกาสให้ Seller สามารถขายปลีกออนไลน์สู่ต่างประเทศได้ รวมถึงจีนด้วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169

Tags:
No items found.