Highlight

จับกระแสการค้าการลงทุนไทย-จีน ยุค COVID-19

20

May

2022

20

May

2022

‘ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล’ ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 28

        แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หอการค้าไทย-จีน ยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การนำของ ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 28 ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 พร้อมจัดงานพบปะสังสรรค์สื่อมวลชน อัพเดทข้อมูลสถานการณ์การค้าการลงทุนไทย-จีน ท่ามกลางความท้าทายในยุคโควิด-19 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

        ประธานฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้ หอการค้าไทย-จีนก่อตั้งมาครบรอบ 112 ปี ยังคงรักษาบทบาทภารกิจหลักเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในทุกมิติ กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมากมาย แต่คณะกรรมการหอการค้าไทย-จีนพร้อมสนับสนุนการทำงาน และให้ความช่วยเหลือทุกภาคส่วนทั้งไทยและจีน ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งบรรลุผลสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยนโยบายที่สอดคล้องกันอย่างนโยบาย “One Belt One Road” ของจีน และ“ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)”ของไทย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ยกระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 28

        ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน สมัยที่ 28 ผมพร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นภารกิจหลักได้แก่ 1.ขยายการส่งออกไปจีน อาทิ การจัดกิจกรรมหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดเวทีการเจรจาธุรกิจการค้าไทย-จีน และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติสำคัญ ๆ ที่จัดขึ้นในประเทศจีน 2.ส่งเสริมการลงทุนไทย-จีน อาทิ การต้อนรับคณะผู้แทนทางการค้าการลงทุนจากประเทศจีน, การจัดกิจกรรมสัมมนาลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศไทยและจีน, การนำคณะผู้แทนทางการค้าการลงทุนไทยเยือนมณฑลต่าง ๆ และเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน เช่น ท่าเรือเสรีไห่หนาน และ GBA (โครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า)  

        3.ส่งเสริมเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ EEC ของไทย กับ BRI ของจีน อาทิ การสำรวจลู่ทางธุรกิจการค้าและการลงทุนไทย-จีน โดยการใช้สิทธิประโยชน์จากยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือเสรีไห่หนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง BRI ทางทะเล 4.ส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซระหว่างไทย-จีน 5.การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน รายไตรมาส 6.การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก (WCEC) 7.การเสริมสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อาทิ การจัดหลักสูตรพัฒนานักบริหารหอการค้าไทย-จีน (Da Lao Ban Academy) และ 8.การขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ

        “ผมและคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย-จีนคาดหวังว่าจะสามารถนำคณะไปเยือนประเทศจีน หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มีสถานการณ์ดีขึ้น และจีนมีนโนบายเปิดประเทศต้อนรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่มีข้อจำกัด เช่น มาตรการการกักตัว และมีการเพิ่มเที่ยวบินตรง ระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสำคัญ ๆ ของจีน” ประธานฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

การค้าไทย-จีนยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19

        อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การค้าระหว่างไทยและจีน ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศจีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 13 ของจีน

        ในปี 2564 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-จีนมีมูลค่ารวม 103,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 30.32% การส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนในปี 2564 ยังขยายตัวต่อเนื่อง 24.79% โดยมีมูลค่า 37,203 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ส่วนการนำเข้าของไทยจากจีนมีมูลค่า 66,546 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 33.63% สินค้านำเข้าสำคัญ ๆ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

        ล่าสุด ข้อมูลช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) การค้าระหว่างไทย-จีน มีมูลค่า 17,095 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นสัดส่วน 18% ของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั้งหมดของไทย โดยการส่งออกจากไทยไปจีนขยายตัว 4.78% ขณะที่การนำเข้าของไทยจากจีนขยายตัว 21.73% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 6,815 ล้านเหรียญสหรัฐ

        ด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทยในปี 2564 มีโครงการลงทุนของจีนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มูลค่าทั้งสิ้น 38,567 ล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากการลงทุนจากญี่ปุ่น ในจำนวนนี้มีโครงการขนาดใหญ่ (เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (Audio Visual Product) มูลค่า 9,500 ล้านบาท, กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ มูลค่า 7,277 ล้านบาท, กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และ/หรือวัตถุดิบสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ (3 โครงการ) มูลค่ารวม 9,382 ล้านบาท

        ทั้งนี้ ในปี 2564 การลงทุนของจีนมีสัดส่วน 17% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีการเข้ามาลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร, อุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร, เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ, เคมีภัณฑ์และกระดาษ ฯลฯ โดยปัจจัยที่ผลักดันให้จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับหลายบริษัทของจีนมีการปรับโครงสร้างเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังโควิด-19 รวมถึงต้นทุนการผลิตในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

        “ผมมีความเห็นว่า ถึงแม้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อ แต่การค้าระหว่างไทยกับจีน ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก โดยหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2565 มีรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศของไทยว่า ผู้ประกอบการไทยมีการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ส่งออกไปยังตลาดหลัก  คือ ญี่ปุ่น  จีน  และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกจากไทยไปจีนภายใต้ความตกลง RCEP มีมูลค่า 453.95 ล้านบาท

        แม้ว่าผู้ส่งออกไทยไปจีนภายใต้ความตกลง RCEP ส่วนใหญ่จะได้รับการลดภาษีในระดับที่เท่ากับกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่ภาษีเป็น 0% แต่เนื่องจากความตกลง RCEP มีข้อกำหนดเรื่องการตรวจปล่อยสินค้าที่ชัดเจน คือ กรณีที่เป็นสินค้าเน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสำหรับสินค้าทั่วไปจะได้รับการตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง จึงคาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยมาขอใช้สิทธิภายใต้ความตกลง RCEP กันมากขึ้น เนื่องจากสามารถวางแผนการนำเข้าส่งออกสินค้าล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น  โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สด เช่น ทุเรียนสด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลางสาด มะพร้าวทั้งกะลา มันสำปะหลัง ตลอดจนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล” ประธานฯณรงค์ศักดิ์ ระบุ

        นอกเหนือจากความตกลง RCEP ที่เป็นปัจจัยหนุนการค้าระหว่างไทย-จีน ในมุมมองของประธานฯ ณรงค์ศักดิ์ มองว่า การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย ยังนับเป็นอีกโอกาสที่สำคัญในการส่งเสริมกระจายสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศจีนอีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลตอนในของจีน โดยจากการเยือนจีนของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนได้เน้นความสำคัญ “การเร่งรัดก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ให้เชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว” ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านบริการโลจิสติกส์ของประเทศต่อไป

หอการค้าไทย-จีนรับมอบธงเจ้าภาพจัดประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก (WCEC) สมัยที่ 16

        ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการชาวจีนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย-จีน พร้อมเดินหน้าพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยรับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก หรือ The World Chinese Entrepreneurs Convention (WCEC) สมัยที่ 16 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค. 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนจากทั่วโลก กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุมเจรจาธุรกิจ และสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศไทย

        “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุม WCEC สมัยที่ 16 ในปีหน้านี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากการระบาดของโควิด-19 และเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับผู้ประกอบการชาวจีนทั่วโลก ร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกัน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวด้วยความเชื่อมั่น

Tags: