รถยนต์จีนยกทัพ ! ตั้งฐานผลิต EV หนุนไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน
7
October
2022
23
September
2022
เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาคอาเซียนกำลังเข้าใกล้ความจริง ด้วยแรงหนุนสำคัญจากการเข้ามาดำเนินธุรกิจของบริษัทรถยนต์จีนชั้นนำ
การมาถึงของยุคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ "อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" พร้อม ๆ กับการเข้ามามีบทบาทของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีน ซึ่งกลายมาเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Hub ในอาเซียน
ภายใต้นโยบาย ‘30@30’ ที่ตั้งเป้าจะมีการผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปีค.ศ. 2030 หรือปีพ.ศ.2573 รัฐบาลไทยได้มีการออกมาตรการสนับสนุนทั้งในด้านฝั่ง Supply และ Demand เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และแพ็กเกจส่งเสริมการใช้และการผลิตรถ EV ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า และให้เงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตรถ EV ในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในปี 2565-2566 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน (นำเข้ามาขาย 1 คัน ต้องผลิตในประเทศ 1 คัน)
ภายหลังจากแพ็กเกจสนับสนุน EV เริ่มคิกออฟ ได้รับการตอบรับจากค่ายรถจีนที่ตบเท้าเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐแล้วหลายค่าย มีทั้ง MG, Great Wall Motor, BYD รวมถึง DFSK หรือ DONGFENG (ตงเฟิง) ที่จับมือกับพันธมิตรผู้จัดจำหน่ายในไทย
นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่ายังมีค่ายรถจีนอีก 6 รายที่เตรียมจ่อลงนามเข้าร่วมโครงการแพ็กเกจ EV กับกรมสรรพสามิตในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ NETA (เนต้า), Changan (ฉางอาน) และ Geely (จีลี่) โดยค่ายรถยนต์เหล่านี้จะต้องได้รับ BOI หรือมีโรงงานผลิตในประเทศไทยที่ชัดเจน รวมทั้งมีแผนการดำเนินธุรกิจและแผนผลิตรถ EV ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้
นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 17 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนไปแล้วทั้งสิ้นรวม 26 โครงการจาก 17 บริษัท กำลังการผลิตรวมกว่า 830,000 คัน ในจำนวนนี้มีโครงการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ MG และ Great Wall Motor นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 17,891 ล้านบาทของ BYD ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นรายล่าสุดจาก BOI โดยจะเป็นการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV)
สำหรับ MG ได้เข้ามาปักหมุดในประเทศมายาวนาน 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง SAIC Motor (เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น) กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์และทำตลาดในประเทศไทย โดยมีฐานการผลิตตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด แห่งที่ 2 จ.ชลบุรี และนับเป็นบริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดในระดับหลายหมื่นล้านบาทตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และยังมีแผนเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ
ในปีนี้ MG ยังได้ประกาศเดินหน้าก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่จ.ชลบุรี ด้วยจำนวนเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อรองรับทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในอนาคต โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทเริ่มผลิตรถ EV ในไทย
ด้าน Great Wall Motor ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย โดยเปิดโรงงานที่จ.ระยอง และเริ่มเดินสายการผลิตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 นอกประเทศจีน และเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวาของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 80,000 คันต่อปี โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 22,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ DFSK หรือ DONGFENG (ตงเฟิง) ,SERES และ VOLT CITY EV ซึ่งเตรียมงบลงทุนมากกว่า 400 ล้านบาท ขยายโรงงานประกอบรถ EV ที่จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 20 ไร่ กำลังการผลิต 4,000 คันต่อปี คาดว่าจะผลิตได้ภายในปี 2566
จากกระแสการตอบรับของบริษัทรถยนต์ต่างชาติทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านคัน ตอกย้ำความเชื่อมั่นการเป็น EV Hub ในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม