Movement

‘CRRC Sifang’ ยักษ์รถไฟจีนจับมือ‘ไทย’ ถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง

27

August

2024

17

March

2022

        ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระบบรางและรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน ก้าวหน้าไปอีกขั้น ล่าสุด CRRC Qingdao Sifang (ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง) ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ของจีน ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนาม. MOU ความร่วมมือไทย – จีน เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบร่วมด้านขนส่งทางราง และถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยของไทยและจีน 8 แห่งเข้ามาเป็นแนวร่วม

        พิธีลงนาม MOU ไทย-จีนทั้ง 2 ฉบับจัดขี้นผ่านระบบประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมี จัง ก่วง จูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน และ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นสักขีพยาน

        ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ประกอบด้วย  MOU ฉบับที่ 1 ความร่วมมือไทย – จีน ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ร่วมกับ CRRC Qingdao Sifang โดยมีเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัยของไทยเข้ามาเป็นแนวร่วม ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศจีนที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนและการทำวิจัยด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ได้แก่ Beijing Jiaotong Universit, Southwest Jiaotong University และ Central South University

        MOU ฉบับนี้จะเน้นการถ่ายทอดและการเพิ่มทักษะวิชาการขั้นสูงด้านการออกแบบรถไฟความเร็วสูง โดยจะมีการจัดทำแผนการถ่ายทอดในเดือนมี.ค. 2565 นี้เป็นต้นไป และจะขยายกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกับเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูงระหว่าง วว. เครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย และเครือข่ายฝ่ายจีนต่อไปในอนาคต

        MOU ฉบับที่ 2 ความร่วมมือไทย-จีน เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบร่วม‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ด้านการขนส่งทางราง ภายใต้โครงการ Belt and Road Joint Laboratory on Rail Transport เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือในด้านวิชาการระบบราง โดยความร่วมมือนี้จะมีบทบาทสำคัญคู่ขนานกับการการพัฒนาเส้นทาง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกัน สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

        “ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีกับ CRRC Qingdao Sifang ที่มีศักยภาพในด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการออกแบบและการผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมถึง 3 มหาวิทยาลัยของจีน จะช่วยให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้การสอน การวิจัยและพัฒนาซึ่งจะดำเนินการร่วมกันนั้น จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต” ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา กล่าว

        สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมาความร่วมมือด้านเทคนิคการรถไฟระหว่างจีนและไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่าย ตั้งแต่ปี 2013 CRRC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรของไทย อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อวิจัยเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง อบรมผู้มีความสามารถ และแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ช่วยสร้างความเป็นหุ้นส่วนอันดีในระยะยาว การลงนามในครั้งนี้ยังช่วยยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงระหว่างสองประเทศ ส่งผลดีต่อการผลักดันโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง อาทิ ทางรถไฟจีน-ไทยและโครงการเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานของไทย  

        ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทดสอบร่วม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ด้านขนส่งทางรางระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 50 ห้องปฏิบัติการทดสอบร่วมที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้ริเริ่มในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ครั้งแรก ทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญของรถไฟความเร็วสูง และการอบรมบุคลากรด้วยความสำเร็จ  ซึ่งทางจีนได้อบรมบุคลากรไทยเป็นจำนวน 300 กว่าคน

Tags:
No items found.