Business

การเติบโตของ E-commerce ข้ามแดนที่กว่างซี โอกาสเชื่อมตลาดจีนสำหรับผู้ประกอบการไทย

16

November

2024

16

August

2021

        ชี้ช่องโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ส่งตรงจากรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564รัฐบาลจีนได้ออกประกาศ“ความเห็นว่าด้วยการเร่งพัฒนาการค้าต่างประเทศรูปแบบใหม่”โดยมีมาตรการเร่งส่งเสริมการพัฒนาการค้าต่างประเทศรูปแบบใหม่โดยเฉพาะการกระตุ้นการพัฒนา E-commerce ข้ามแดน (CrossBorder E-Commerce)

       ทั้งนี้ กว่างซีนับเป็นมณฑลที่มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและนโยบายส่งเสริมจากส่วนกลางซึ่งช่วยให้ E-commerce ข้ามแดนสามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจึงนับเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจ E-commerceข้ามแดนกับจีนโดยสามารถใช้กว่างซีเป็นช่องทางการเชื่อมต่อกับตลาดในประเทศจีนได้

มูลค่าการค้า E-commerce ข้ามแดนที่กว่างซี ครึ่งปีแรกเติบโตกว่า 5 เท่า ทะลุ 3,433 ล้านหยวน 

       เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564สำนักงานการพัฒนาเขตทดลองการค้าเสรีแห่งประเทศจีนใน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ประกาศว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มูลค่าการค้า E-commerceข้ามแดนในเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีพื้นที่ย่อยเมืองหนานหนิงและเมืองฉงจั่วอยู่ที่ 3,433 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 508.9เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

       ทั้งนี้ เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีได้ร่วมกับรัฐบาลเมืองต่างๆในการบ่มเพาะการค้า E-commerce ข้ามแดนรูปแบบใหม่และส่งผลต่อการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดโดยเมืองหนานหนิงและเมืองฉงจั่วได้รับอนุมัติให้เป็นเขตทดลองเขตการค้าเสรีแห่งประเทศจีนขณะที่เมืองชินโจวได้รับอนุมัติให้เป็นจุดทดลองการนำเข้าผ่านช่องทาง E-commerceข้ามแดนในรูปแบบค้าปลีก ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ E-commerceข้ามแดนในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจะได้รับสิทธิพิเศษด้านนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับแพลตฟอร์ม E-commerce ข้ามแดนบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าสูง และเมื่อมีการก่อตั้งโกดังในต่างประเทศ

       ปัจจุบันเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซียังมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานแบบครบวงจรมากขึ้นอย่างต่อเนื่องอาทิ แพลตฟอร์มบริหารสาธารณะ คลังสินค้าทัณฑ์บน และร้านทดลองการแสดงสินค้าข้ามแดนทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมดึงดูดบริษัท E-commerce ให้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจในเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีเป็นจำนวนมากกว่า100 ราย ตัวอย่างเช่น บริษัท LAZADA ที่สามารถเสนอบริการด้านการบ่มเพาะการไลฟ์สด และการอบรม ให้กับบริษัทที่มีความต้องการได้

       ขณะเดียวกัน ยังได้มีการริเริ่มเส้นทางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์สำหรับE-commerce ข้ามแดนของกว่างซีสู่อาเซียนมากขึ้น ได้แก่

  • เมืองหนานหนิงได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าE-commerce ข้ามแดนเฉพาะ ระหว่างเมืองหนานหนิง-เวียดนามเมืองหนานหนิง-มะนิลา และเมืองหนานหนิง-กรุงเทพฯซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ท่าเรือชินโจวมีความได้เปรียบเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ“เรือ+ ราง”เนื่องจากการดำเนินพิธีการศุลกากรที่มีประสิทธิภาพและระยะเวลาการขนส่งที่ลดลงซึ่งช่วยลด ต้นทุนและความเสี่ยงทางธุรกิจได้
  • เมืองฉงจั่วได้เปิดช่องทางสีเขียวให้กับสินค้าE-commerce ข้ามแดนโดยสินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรที่เขตสินค้าทัณฑ์บนประจำอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่วแล้วจะใช้ระยะเวลา 1 วันในการขนส่งไปเวียดนาม และระยะเวลา 2 วัน ในการขนส่งไปประเทศไทย  

        นอกจากนี้ เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีได้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่องล่าสุด พื้นที่ย่อยเมืองหนานหนิงได้นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อผนวกการควบคุมบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ พัสดุระหว่างประเทศทั่วไปและพัสดุระหว่างประเทศรูปแบบ E-commerce ข้ามแดนเข้ามาอยู่ในโหมดเดียวกัน ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรจากเดิม 8 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง ปัจจุบันความสามารถในการดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าดังกล่าวอยู่ที่ 1 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะที่พื้นที่ย่อยเมืองฉงจั่วได้ลดขั้นตอนการยื่นสำแดงใบสินค้าE-commerce ข้ามแดน ทำให้สามารถบริหารจัดการใบแจ้งศุลกากรได้5 แสนฉบับภายใน 1 ชั่วโมงช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนบุคลากรอีกด้วย

       จากการพัฒนาไปอย่างรุดหน้าของ E-commerce ข้ามแดนในด้านต่างๆเหล่านี้ จึงนับเป็นโอกาสที่น่าสนใจซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างจีนกับไทยและอาเซียนให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตโดยมีกว่างซีเป็นประตูการค้าที่สำคัญ

Tags:
No items found.