Movement

‘ไทย-กวางตุ้ง’กระชับความร่วมมือระดับสูง เดินหน้ายุทธศาสตร์เชื่อมโยงพื้นที่ EEC – GBA

16

November

2024

26

August

2021

        ยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area หรือ GBA) ของรัฐบาลจีน กับการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ของไทยจะเชื่อมต่อกันอย่างไร? เพื่อสร้างโอกาสให้กับไทยและจีน  

        ล่าสุด มีความคืบหน้าการผลักดันเรื่องนี้ผ่านการประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดประชุมนัดปฐมฤกษ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมี หม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในการประชุมร่วมกันผ่านระบบทางไกล โดยฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ภายใต้หัวข้อ“การสร้างความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่าง GBA กับ EEC เพื่ออนาคต”

        การประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย – กวางตุ้ง ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการยกระดับกลไกการทำงานจากคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส มาสู่การประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มพลวัตรความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีน

       การประชุมดังกล่าวยังเป็นเวทีหารือที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Greater Bay Area หรือ GBA) ที่จีนตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยและบริการสมัยใหม่

นโยบาย“4 เชื่อม” ขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงลึก

       สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมร่วมฝ่ายไทย กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือ กำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือระหว่างไทยและมณฑลกวางตุ้งในระยะต่อไป และส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองฝ่ายจากผลกระทบของโควิด-19

       โอกาสนี้ จึงได้เสนอที่ประชุมให้มีการผลักดัน“นโยบาย 4 เชื่อม” เพื่อขับเคลื่อนให้สองฝ่ายมีความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. การเชื่อมโยงเชิงนโยบาย เช่น ระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาของสองประเทศ ได้แก่ นโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model) กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสงคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14  (พ.ศ. 2564-2569 )ของจีน และนโยบายการพัฒนาของมณฑลกวางตุ้ง
  2. การเชื่อมโยงทางกายภาพ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางบก เรือ อากาศ
  3. การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอุปสรรคทไม่ใช่ภาษี
  4. การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ซึ่งภาครัฐต้องสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแลกเปลี่ยนและลดอุปสรรคในการไปมาหาสู่กัน

        รัฐมนตรีสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการติดตามผล 4 ช่องทางระหว่างกัน ได้แก่ 1. สำนักงาน EEC กับสำนักงาน GBA กวางตุ้ง 2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) 3. คู่เมืองพี่เมืองน้องของทั้งสองฝ่าย และ 4. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว กับสำนักงานการต่างประเทศ มณฑลกวางตุ้ง

       พร้อมทั้งได้เสนอประเด็นเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่

  1. การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (supply chain connectivity) ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก
  2. การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups
  3. การพัฒนา Smart City และ 5G โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหารือให้เป็นรูปธรรม

       ที่ประชุมยังได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ซึ่งได้ระบุถึงความร่วมมือ 6 สาขาที่ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสมัยใหม่ 2.เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน 3.การเกษตร 4.วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ 5.การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น 6.ความร่วมมือด้านอื่นๆ อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน โดยจะมีการจัดการประชุมความร่วมมือระดับสูงร่วมกันเป็นประจำทุก 2 ปี โดยการประชุมในครั้งต่อไปไทยจะเป็นเจ้าภาพ

ชูศักยภาพ EEC เชื่อมต่อ GBA ประตูสู่อาเซียน

       ด้าน คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับมณฑกวางตุ้งว่า ในส่วนของ EEC ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative)ของจีน โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G ในพื้นที่ EEC

      พร้อมทั้งได้นำเสนอความก้าวหน้าการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง EEC จะให้ความสำคัญกับ 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย (1) Digital and 5G (2) Smart Logistics  (3) Health and Wellbeing โดยมี BCG  (Bio-circular-Green) เป็นแนวทางการลงทุนและประกอบธุรกิจสำหรับทุกคลัสเตอร์

        ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่าง EEC กับ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทาง EEC จากแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง

        การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคตผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป และโอกาสการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี

        ทั้งนี้ ทาง GBA ของจีนได้เสนอให้มีการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน 2 ด้านที่มีศักยภาพ ได้แก่ การพัฒนาทางการแพทย์และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งขณะนี้ EEC ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้เช่นกัน โดยได้นำเสนอ 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพซึ่งไทยมีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV  2.ดิจิทัล และ 5G  3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City และ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Green and Circular Economy

       “ วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่การประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีผู้นำระดับสูงของจีน ท่านหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งร่วมเป็นประธาน..

       ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว วันนี้ EEC กับรัฐบาลไทยได้ยกระดับการทำงานมาสู่การพูดคุยหารือเชิงลึกในระดับมณฑลกับมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งการประชุมระดับสูงร่วมกันเช่นนี้จะทำให้มีผลงานที่เป็นรูปธรรม และเห็นแนวทางของการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างสองฝ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน” เลขาธิการ EEC กล่าว

Tags:
No items found.