เศรษฐกิจจีนยืนหนึ่ง เติบโตฝ่าวิกฤต COVID-19
16
November
2024
8
February
2021
ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตสวนกระแส และมีจังหวะของการฟื้นตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจีนจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศเดียวที่มีการขยายตัวในปี 2020
GDP จีนทะลุ 100 ล้านล้านหยวน เติบโต 2.3% ในปี 2020
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2020 ที่ผ่านมาขยายตัว 2.3% พุ่งทะยานทะลุ 100 ล้านล้านหยวน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 101.6 ล้านล้านหยวน โดย GDP ของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปีเติบโตขึ้น 6.5% เกินความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนเมื่อปีที่แล้วจะขยายตัวสวนกระแสวิกฤต COVID-19 แต่ก็นับเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1970
ย้อนกลับไปเมื่อไตรมาสแรกของปี 2020 GDP จีนติดลบ 6.8% เนื่องจากเจอวิกฤต COVID-19 เล่นงานอย่างหนักในช่วง 3 เดือนแรกของปี แต่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสต่อๆมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงทีและเห็นผล
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 จีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยทำให้ภาคเศรษฐกิจของจีนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีหลัง โรงงานและภาคการผลิตของจีนได้กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ ภาคการผลิตกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ส่งผลต่อ GDP จีนขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการชะลอตัวของภาคการบริโภค จากการที่ชาวจีนลังเลในการจับจ่ายใช้สอย สะท้อนจากยอดค้าปลีกในประเทศตลอดปี 2020 ที่หดตัวลง 3.9% ส่วนยอดค้าปลีกในไตรมาส 4 ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศในปี 2020 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 32.16 ล้านล้านหยวน
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Centre for Economics and Business Research (CEBR) ของอังกฤษ ได้เปิดเผยในรายงานประจำปี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2028 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 5 ปี เนื่องจากการฟื้นตัวที่แตกต่างกันจากผลกระทบของ COVID-19 โดยรายงานระบุว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายโดยเฉลี่ย 5.7% ต่อปีในระหว่างปี 2021-2025 ก่อนจะชะลอตัวลงมาเติบโตเฉลี่ยที่ 4.5% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2026-2030
ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐ แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง หลังจากโรคระบาดสิ้นสุดลงในปี 2021 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 2022-2024 จะชะลอลงสู่ 1.9% ต่อปี ก่อนที่จะชะลอตัวลงอีกเหลือ 1.6% ต่อปีหลังจากนั้น
คาดเศรษฐกิจจีนปี 2021 เติบโต 8-8.5%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการของภาครัฐจีนที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้วงจรธุรกิจกลับมาในระดับเดิมอีกครั้งภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการประคับประคองสภาพคล่องของภาคธุรกิจเพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการเงินอุดหนุนและมาตรการทางด้านภาษี เพื่อเร่งให้การบริโภคภาคเอกชนในประเทศกลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเห็นทิศทางนโยบายของจีนเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 เปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว (High-quality Growth) ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านคุณภาพชีวิตของประชากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ การยกระดับเทคโนโลยีในประเทศและลดการพึ่งพาจากต่างชาติ (Technological Self-reliance) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว มุ่งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคต่างประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Dual Circulation ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ที่จะบังคับใช้ในปี 2021-2025
จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2021 จะกลับมาเติบโตในกรอบ 8.0–8.5% เมื่อเทียบปีต่อปี (YoY) โดยอาศัยแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยอาศัยกำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ล้านคน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประสิทธิภาพและทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐยังคงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภค
นอกจากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ท่ามกลางการชะลอตัวในการลงทุนของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และความไม่แน่นอนของตลาดส่งออก
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนปีนี้จะเริ่มเห็นทิศทางการเติบโตที่สดใส แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นจากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐและจีน
การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดน อาจจะทำให้มีการทบทวนนโยบายทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในยุคของทรัมป์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คงเป็นการยากที่ไบเดนจะทำการยกเลิกมาตรการทางด้านภาษีต่างๆ ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว เว้นแต่จะมีการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุด้วยว่า แม้จีนจะบรรลุข้อตกลงพหุภาคี RCEP ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกกับการส่งออกของจีน แต่อาจจะยังไม่เห็นผลอย่างเป็นนัยสำคัญภายในปีนี้ เนื่องจากต้องรอให้รัฐบาลของแต่ละประเทศให้สัตยาบันก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ (คาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้) โดยมองว่า การบรรลุข้อตกลง RCEP จะช่วยให้เกิดสมดุลการค้าใหม่ของโลกและเกิดการคานอำนาจชาติตะวันตก และอาจจะทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ที่เหนียวแน่นในภูมิภาค ซึ่งจีนจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกอย่างมาก โดยสามารถลดการพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังโลกตะวันตก และขยายการตลาดมาในภูมิภาคสมาชิกอย่างกว้างขวาง