Highlight

100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน 46 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ความร่วมมือรอบด้านก่อให้เกิดผลสำเร็จนานัปการ

12

January

2022

1

July

2021

        1 ก.ค.2564 ตรงกับวันฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังถือเป็นการครบรอบปีที่ 46 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทยอีกด้วย

       ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมายาวนานนับแต่โบราณกาล ในพงศาวดารจีนมีการบันทึกไว้ว่า ไทยและจีนเริ่มติดต่อทำการค้าและสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง ซึ่งตรงกับสมัยก่อนอาณาจักรสุโขทัยของไทย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนก็พัฒนามาตลอดเรื่อยมา  

       จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในจีนในปี 2492 ทำให้ไทยกับจีนขาดการติดต่อกันในระดับทางการอยู่ระยะหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในสมัยนั้นเดินทางเยือนจีนเป็นครั้งแรก และได้ร่วมลงนามกับนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ในแถลงการณ์ร่วมไทย-จีนว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2518

        นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน โดยตลอดระยะเวลา 46 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนไทยได้รับการพัฒนาทั่วทุกด้าน

ด้านการเมือง

        จีน-ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการเมืองไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศไปมาหาสู่และรักษาการเชื่อมสัมพันธ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนมากถึง 46 ครั้ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบปะกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยหลายต่อหลายครั้ง

       ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดรอบด้านและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและการไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ไทยกับจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น“หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อเดือนเมษายน 2555 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น รวมทั้งไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกันทางประวัติศาสตร์ พรมแดน หรือน่านน้ำระหว่างกัน

        นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกรอบอาเซียน-จีน กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และจีนเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ตลอดจนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP)

ด้านเศรษฐกิจ

        นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ปริมาณการค้าทวิภาคีได้เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 เท่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ส่วนไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของจีนในอาเซียน

        ทั้งนี้ ในปี 2563 แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนยังคงขยายตัวทวนกระแส โดยมีมูลค่ารวม 79,607 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.16% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

       ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าระหว่างไทย-จีนมีมูลค่า 22,803 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 26% สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และยางพารา ในส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีน ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

       ด้านการลงทุนของจีนในไทย นับตั้งแต่ปี 2558 การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทยไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้า รวมถึงนโยบายรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ธุรกิจที่มีความพร้อมขยายการลงทุนออกมานอกประเทศ โดยไทยอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์สายไหมใหม่ของจีน และเมื่อมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนในหลายธุรกิจ ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนถือเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย โดยมีมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุน 31,465 ล้านบาท  

       ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว จีนถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอันดับ1 ของไทย โดยในปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลกมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย 10.98 ล้านคน คิดเป็น 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ (China National Tourist Office, Bangkok) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือน มิ.ย.2560 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน

ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา

        ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ปี 2562 มีนักศึกษาจีนมาศึกษาในไทยมากกว่า 36,000 คน และมีนักศึกษาไทยกว่า 28,000 คนศึกษาต่อในประเทศจีน นอกจากนี้ประเทศจีนยังได้จัดตั้งสถาบันขงจื่อในประเทศไทยทั้งสิ้น 16 แห่ง และมีโรงเรียนกว่า 2,000 แห่งในไทยที่เปิดสอนหลักสูตรภาษาจีน โดยปัจจุบันมีนักเรียนไทยที่ศึกษาภาษาจีนกว่า 1 ล้านคน

         ทั้งสองประเทศยังมีการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม สาธารณสุขและศิลปวัฒนธรรมที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อเดือน พ.ย.2555 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ได้จัดพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนระหว่างภาคสังคมและประชาชนใกล้ชิดมากขึ้น

มองไปข้างหน้าถึงอนาคตของความสัมพันธ์ทวิภาคี

        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าไทยและจีนจะเติบโตไปในทิศทางใด หรือสถานการณ์โลกจะผันแปรอย่างไร ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงเจริญรุดหน้าไปอย่างมั่นคง ที่สำคัญที่สุดคือทุกครั้งที่เผชิญกับความยากลำบากทั้งสองประเทศต่างร่วมแรงร่วมใจเกื้อกูลกันและกัน

        นับตั้งแต่ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ไทยและจีนทั้งสองประเทศได้ช่วยเหลือกันและกันก้าวผ่านความยากลำบากด้วยกัน เสมือนลงเรือลำเดียวกัน ในช่วงแรกในปี 2563 เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในประเทศจีนก่อน ไทยได้ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลืออย่างมากแก่จีนในการป้องกันควบคุมโรค สถาบันพระมหากษัตริย์รวมถึงรัฐบาลไทยบริจาคเวชภัณฑ์แก่จีน ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนไทยพากันแสดงความเป็นมิตรและปรารถนาดีต่อประชาชนจีน

        ต่อมาเมื่อไทยเผชิญการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลและประชาชนจีนก็ได้พากันให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ

        เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 วัคซีนโควิด-19 ฝีมือจีนซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 แสนโดสได้เดินทางส่งมอบถึงประเทศไทย นับเป็น“วัคซีนล็อตแรก”ของไทยตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา

        จนถึงวันที่ 7 ก.ค. 2564 จีนได้ส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19ที่ผลิตโดยซิโนแวค และซิโนฟาร์มให้แก่ประเทศไทยแล้วจำนวน 15 ล็อต รวมทั้งสิ้น 14.5 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคโดยรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือไทยจำนวน 1 ล้านโดส เบื้องหลังการส่งวัคซีนจีนถึงไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพอันจริงใจระหว่างกันในยามที่เกิดความยากลำบาก

        ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด–19 ทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง “ความสามัคคีคือพลัง” เมื่อเผชิญกับความท้าทายต่างๆ หลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิดทุกคนต่างตระหนักถึงความหมายของคำว่า ประชาคมโลกที่มีชะตาชีวิตร่วมกันมากกว่ายามใด

        เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนกำลังเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้าน ขณะที่ประเทศไทยกำลังผลักดันนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ”และมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

        ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนกำลังก้าวสู่ทศวรรษใหม่ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันแปร และความท้าทายของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทั้งสองประเทศจึงควรมองโอกาสกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยึดมั่นจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

        ทั้งการเสริมสร้างการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ด้วยการแลกเปลี่ยนบุคลากรในทุกระดับระหว่างสองประเทศ เพิ่มการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรรม ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเปิดกว้าง สานต่อความร่วมมือตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมกันสร้าง“เส้นทางสายไหมเพื่อสุขภาพ”และ“เส้นทางสายไหมดิจิทัล” ตลอดจนร่วมกันผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีนให้ประสบความสำเร็จเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนตลอดเส้นทาง รวมถึงกระตุ้นแรงผลักดันใหม่ๆในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและทั้งภูมิภาคต่อไป

        ความร่วมมือฉันมิตรระหว่างไทย-จีน ถือเป็นแบบฉบับแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในหลักการเคารพซึ่งกันและกัน มีความเสมอภาคและเป็นธรรม เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่ารูปแบบการปกครองที่แตกต่าง ไม่เป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ

        ในอนาคตข้างหน้าเชื่อมั่นว่าด้วยมิตรภาพและความผูกพันระหว่างประชาชน รวมถึงความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ความสัมพันธ์จีน-ไทยจะขยายผลประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้นความเข้าใจและความร่วมมือซึ่งกันและกันก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และร่วมสร้างอนาคตที่งดงามมากกว่าปัจจุบัน และประสบชัยชนะในการต่อสู้กับโควิด-19 ในเร็ววัน

Tags: