Highlight

MOU‘ไทย-กานซู่’ ขยายโอกาสใหม่การค้าไทย-จีน

30

July

2024

28

April

2022

        “กานซู่”เป็นมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นช่องทางบกที่สำคัญบนเส้นทางสายไหมยุคโบราณในอดีต โดดเด่นด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ ระบบนิเวศและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมันดิบ ถ่านหิน รวมถึงแร่ธาตุ อาทิ นิเกิล โคบอลต์ และแพลตทินัมมาเป็นอันดับ 1 ของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ติดอันดับต้นๆของจีน อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตสมุนไพรที่สำคัญของจีนมีฉายาว่า“เมืองสมุนไพรพันปี”

        นโยบาย“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สร้างโอกาสที่เปิดกว้างให้แก่มณฑลกานซู่ ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ก้าวจาก Land Lock พัฒนาสู่การเป็น Land Link เชื่อมโยงจีนกับยุโรป เอเชีย และนานาประเทศทั่วโลก  

        ด้วยศักยภาพและความสำคัญดังกล่าวของมณฑลกานซู่ และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในการรุกจับคู่ขยายความร่วมมือทางการค้าเชื่อมจีนรายมณฑล จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา

เหลียวหลัง แลหน้า..ความร่วมมือ“ไทย-กานซู่”

        เหริน เจิ้นเฮ่อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ กล่าวว่า มณฑลกานซู่และประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน และเต็มไปด้วยโอกาสในการสร้างความร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และวิทยาการแพทย์จีนแผนโบราณ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างกว้างไกล

เหรินเจิ้นเฮ่อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่

        ในปี 2564 การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างมณฑลกานซู่กับไทยมีมูลค่าสูงกว่า 200 ล้านหยวน (มากกว่า 1,000 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด รวมถึงอาหารทะเลแช่แข็งของไทย ต่างได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในกานซู่ ขณะที่แอปเปิ้ล ยาแผนจีน และสินค้าไฮเทคจากกานซู่ เช่น ขั้วไฟฟ้ากราไฟต์ และเครื่องกลไฟฟ้าขั้นสูงจากกานซู่ ได้ส่งออกมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการลงทุน บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ CP Group ก็ได้เข้ามาลงทุนมูลค่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐในกานซู่

        หลายปีที่ผ่านมา มณฑลกานซู่ยังได้เปิดเส้นทางการบินเช่าเหมาลำการท่องเที่ยวจากเมืองหลานโจวมายังกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และกระบี่ รวมถึงเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งทางบกและอากาศ จากเมืองหลานโจวมุ่งตรงสู่กรุงเทพฯ  ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา รถไฟสินค้าระหว่างประเทศเส้นทาง “ตุนหวง-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ” ได้ขนส่งแร่ใยหินผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว มายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก

        นอกจากด้านการค้าการลงทุน ยังมีด้านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือการแพทย์แผนจีนโบราณ ซึ่ง มณฑลกานซู่ได้จัดตั้ง Qi Huang Traditional Chinese Medicine Center ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพ.ค.2561   ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพมณฑลกานซู่ยังได้ลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้แผนแพทย์โบราณระหว่างจีน-ไทยร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขของไทย อีกทั้งยังได้บริจาคยาแผนจีน “กานซู่ฟางจี้” เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างไทยกับกานซู่

พิธีลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ไทย ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อ 28 เม.ย. 65

        พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า การลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับกานซู่ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย กับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยใช้โอกาสจาก"ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และกลไกใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการลงนาม MOU ครั้งนี้ ในการเปิดตลาดใหม่ร่วมกัน ร่วมกันแบ่งปันศักยภาพ ทรัพยากร และอำนวยความสะดวกแก่กันและกัน เพื่อขยายขนาดตลาดการค้านำเข้าและส่งออก อีกทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งไทยและกานซู่จะมีการยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแบบ win-win

เดินหน้าขยายการค้าทะลุ 1,265 ล้านบาท ใน 1 ปี  

        ด้านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  กล่าวว่า มณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีต หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม” ในปัจจุบันได้ขยายจากเส้นทางทางบกไปสู่เส้นทางสายไหมทางทะเล และได้มีเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ที่มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่านนครฉงชิ่ง และเข้าสู่มณฑลกานซู่ เชื่อมต่อไปยังดินแดนทางทิศตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นผลมาจากระบบขนส่งทางรางที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงจีนภายใต้นโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  

        “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า MOU ครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และสามารถต่อยอดการค้าอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1,265 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท โดยโอกาสทางการค้าของไทย ได้แก่ สินค้าฮาลาล ซึ่งมณฑลกานซู่มีผู้บริโภคชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหารและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ

        สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการทันทีภายหลังการลงนาม MOU กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้นำเข้ากานซู่ มาร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 พ.ค.2565 เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าอาหารไทย และจะนำผู้ประกอบการไทยไปร่วมงานแสดงสินค้าที่หลานโจว ที่จะจัดขึ้นวันที่ 7-11 ก.ค.2565 และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสมุนไพรที่กานซู่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2565 เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย

20 เม.ย. 65 รถไฟสินค้าระหว่างประเทศ“ตุนหวง-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ”ได้ขนส่งแร่ใยหินมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก

        “หนึ่งในนโยบายที่ผมมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ คือ การเดินหน้าจัดทำความร่วมมือทางการค้าเชื่อมรายมณฑลที่สำคัญของจีน เพื่อนำศักยภาพจุดเด่นของแต่ละมณฑลมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าระหว่างกัน เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีความหลากหลาย และมีจุดเด่นที่แตกต่างกันในแต่ละมณฑล โดยการลงนาม MOU ระหว่างไทย-กานซู่ ครั้งนี้ นับเป็น MOU ฉบับที่ 2 ถัดจากมณฑลไห่หนาน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเดินหน้าเจรจาจัดทำ MOU ความร่วมมือการค้ากับเมืองเซินเจิ้นและมณฑลยูนนานเป็นลำดับต่อไป” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวถึงก้าวต่อไปของการผลักดันความร่วมมือกับจีนรายมณฑลเพื่อเปิดกว้างโอกาสใหม่ทางการค้าร่วมกัน

Tags:
No items found.