‘จุรินทร์’ หนุน ‘ไทย-จีน ใช้ RCEP เชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้’ เปิดเส้นทางขนส่งทางบก-ทางทะเลสายใหม่
1
July
2024
9
July
2022
การประชุม “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12” ซึ่งนับเป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญระหว่างอาเซียนและจีน เปิดฉากขึ้นที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา โอกาสนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงกับผู้บริหารระดับสูงของจีนและอาเซียน ในพิธีเปิดฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญเน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับจีน พร้อมชูอ่าวเป่ยปู้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีน
ทั้งนี้ “กรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 มณฑลของจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไห่หนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไนฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นับเป็นกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน
“สำหรับประเทศไทย “ความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้” ได้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงด้านระบบโลจิสติกส์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับจีน โดยปัจจุบันมีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การจัดทำข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง ราชอาณาจักรไทย” กับ “ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่ติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการกระตุ้นการส่งออกสินค้าผลไม้สดและสินค้าเกษตรของไทยไปจีนได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ล่าสุด เมื่อเดือนเม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ไทยยังได้มีการจัดทำ “MOU ด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งมณฑลกานซู่ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) ที่มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือชินโจว ผ่านนครฉงชิ่ง และมณฑลกานซู่ เชื่อมต่อไปยังดินแดนทางทิศตะวันตกของจีน การจัดทำ MOU กับมณฑลกานซู่ดังกล่าวจึงเป็นการเน้นย้ำการให้ความสำคัญของไทยกับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ในการขยายการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาค
RCEP โอกาสใหม่ร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน
รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ครั้งนี้ คือ “แบ่งปันโอกาสใหม่จาก RCEP ร่วมกันสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเลสายใหม่และชัยชนะร่วมกันกับอนาคตใหม่อ่าวเป่ยปู้” ซึ่งเป็นหัวข้อที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปีที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีไทยเป็นประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ และมีจีนเป็นภาคี โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของไทยในฐานะที่เป็นประธานการประชุม RCEP ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 และผลักดันให้ความตกลง RCEP ได้สรุปผลการเจรจาและกลายมาเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วยยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาค เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ผมมีความเชื่อมั่นว่าความตกลง RCEP จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างอาเซียนกับคู่ค้าให้เติบโตยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลการขอใช้สิทธิ RCEP ในการส่งออกของไทย ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 ผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิ RCEP มูลค่า 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียน และรถจักรยานยนต์
ในขณะที่การขอใช้สิทธิ RCEP เพื่อการนำเข้าสินค้าของไทย มีมูลค่าประมาณ 72.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุด ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ไม้อัด ส่วนประกอบเครื่องยนต์ แอปเปิ้ล สาหร่ายทะเล และองุ่น” รองนายกฯ จุรินทร์กล่าว โดยเชื่อมั่นว่าความตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคให้เติบโตมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทั้งอาเซียนและจีน สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีความโปร่งใสและมีความชัดเจน มีพิธีการศุลกากรที่ง่ายขึ้นและช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคการผลิตสามารถสรรหาวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งด้านคุณภาพและราคาจากประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศได้อีกด้วย
รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้เริ่มการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3” ซึ่งตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ ที่เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนไปยังทุกมุมโลก โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ ที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้ต่อปีจากเดิมที่รองรับได้ 11 ล้านตู้ต่อปี
“ผมขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือการพัฒนากับจีนและอาเซียนอย่างใกล้ชิดอย่างฉันมิตรและสร้างสรรค์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะผลักดันให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและเป็นประตูสู่ท่าเรือทั่วโลก อันจะเป็นประโยชน์กับทั้งฝ่ายจีนและอาเซียนในการขยายช่องทางการค้าอย่างยั่งยืนต่อไป” รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวย้ำในพิธีเปิดการประชุม “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12”