"สี จิ้นผิง" มั่นใจอนาคตเศรษฐกิจจีน หลัง GDP ปี 64 โตแกร่ง
17
February
2022
18
January
2022
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมWorld Economic Forum (WEF) ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบทางไกลเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้แสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในวันข้างหน้า หลังจากเศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีที่แล้ว
"ผมมีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อเศรษฐกิจในอนาคตของจีน หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2564 ของจีนขยายตัวราว 8% ซึ่งถือเป็นการบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านการเติบโตในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าว
ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยว่า แม้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศจีนและในต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปและทำให้เกิดแรงกดดันอย่างมาก แต่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่น และมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังกล่าวว่า ความคืบหน้าทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวจีนทุกคนอย่างเท่าเทียม
"เราคาดหวังที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการผลักดันให้อุดมคติดังกล่าวกลายเป็นจริงได้นั้น เราจะต้องจัดหาทรัพยากรให้มากขึ้น และจากนั้นจะทำการจัดสรรผ่านการบริหารจัดการที่เหมาะสม"
ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีขึ้นหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานตัวเลข GDP ของจีนในปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 114.4 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2563 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ปี 2564 ของจีนขยายตัวรวดเร็วกว่าปี 2563 ที่มีการขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคและภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/2564 ของจีนขยายตัวเพียง 4% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีได้ถูกบดบังด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน
ด้านคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ระบุว่า แม้ในช่วงไตรมาสที่ 1– 4/2564 อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มต้นอย่างมีเสถียรภาพในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ 1) จีนมีโครงสร้างทางธุรกิจที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ และห่วงโซ่ธุรกิจของจีนมีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
2) ราคาถ่านหินในจีนลดลง และปริมาณการสำรองถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าของจีนสามารถรองรับการใช้งานได้มากกว่า 20 วัน 3) ปัญหาขาดแคลนชิปของจีนคลี่คลายลงและปริมาณการผลิตชิปของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว 4) จีนได้เตรียมนโยบายและเครื่องมือทางเศรษฐกิจมหภาคเพียงพอที่จะรักษาการดำเนินงานอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน