Movement

‘กว่างซี’ ชูไทยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เปิดประตูการเงิน การค้า การลงทุน สู่อาเซียน

12

January

2022

15

January

2021

            ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย จีนและอาเซียน ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนระหว่างกันในหลายมิติเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิด และกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับกว่างซีให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นล่าสุด รัฐบาลกว่างซีในฐานะ“ประตูสู่อาเซียน” ของจีนนำโดย ฉิน หลูเผย รองประธานกรรมการบริหารเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้นำคณะเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งจัดงาน Promotion Conference on JointlyBuilding and Sharing The Open Financial Door to ASEAN and China-ASEANInformation Harbor เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศระหว่างจีนกับอาเซียน ณ โรงแรมแชงกรีล่ากรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทย  ทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้การต้อนรับ

            ภายในงานมีการจัดแสดงโครงการสำคัญๆอาทิ  China-ASEAN Information Harbor ส่งเสริมความร่วมมือด้านAI, 5GและBig Data, การสร้างเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงกว่างซีสู่อาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล,The Open Financial Doorto ASEAN ส่งเสริมการลงทุนด้านการเงินระหว่างกัน

           ในการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้คณะผู้แทนรัฐบาลกว่างซียังได้ร่วมประชุมกับสถาบันการเงินชั้นนำของไทย อาทิธนาคารกสิกรไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงิน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาบุคลากรแบบข้ามพรมแดนฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและกลุ่มมิตรผลเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลของทั้งสองฝ่าย

           โอกาสนี้  รองประธานฯ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยังได้เสนอให้มีการเดินหน้าขยายความร่วมมือระหว่างไทย-จีน-อาเซียนใน4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

           1. ความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงิน  กว่างซีได้จัดงานประชุมสุดยอดความร่วมมือและการพัฒนาด้านการเงินจีน-อาเซียนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2552  ซึ่งงานนี้ได้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการเงินระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนและได้ผลักดันให้กว่างซีกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเปิดประตูด้านการเงินที่มุ่งสู่อาเซียน

           ปัจจุบันกว่างซียังอยู่ระหว่างเดินหน้าพัฒนาฐานบริการการดำเนินการทางการเงิน ฐานบริการการบริหารความมั่งคั่งฐานบริการข้อมูลทางการเงิน และฐานการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมทางการเงินสำหรับอาเซียน ซึ่งหวังว่าสถาบันการเงินของไทยจะได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานและเจรจาหารือที่กว่างซีเพื่อศึกษาโอกาสความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินระหว่างกัน

           2. การสร้าง China-ASEAN Information Harbor เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมากว่างซีได้จัดการประชุมสุดยอด AI จีน-อาเซียนครั้งแรก และได้มีพิธีลงนามความร่วมมือพันธมิตรChina-ASEAN Information Harbor โดยได้เชิญตัวแทนจาก 6 ประเทศในอาเซียนมาร่วมประชุมซึ่งรวมถึงตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย มีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงกว่า 100บริษัทมาจัดแสดงในงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สามารถลงนามบรรลุข้อตกลงถึงเกือบ90 โครงการ ครอบคลุมทั้งด้าน Big Data, Internet of Things และAI  ฯลฯ  คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านหยวน (หรือกว่า1.4 แสนล้านบาท)

            บริษัท China-ASEAN Information Harbor ได้เจรจาและสร้างความร่วมมือด้านการสื่อสารข้อมูลและ"Internet+" กับ 8 ประเทศในอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  

            “ในปี 2563 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนเราหวังว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านดังกล่าวกับประเทศไทยต่อไปเพื่อร่วมกันสร้างเส้นทางสายไหมแห่งดิจิทัลจีน-อาเซียน”รองประธานฯ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าว

           3. ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตาม"แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ภาคตะวันตก" จีนจะสร้างเส้นทางขนส่งใหม่3 สายที่เชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันตกกับอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซี

           ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซีจะกลายเป็นท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศที่มีปริมาณสินค้าเข้า-ออกสูงถึง5 ล้านตู้ ในปี 2563  และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น10 ล้านตู้ในปี 2568 โดยหวังว่าทางฝ่ายไทยจะส่งเสริมให้มีการขยายหรือเปิดเส้นทางใหม่การขนส่งทางทะเลระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กับท่าเรือกรุงเทพฯท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือภาคใต้ของไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทไทยสามารถเปิดเข้าสู่ตลาดจีนในพื้นที่ที่ห่างจากฝั่งทะเลรวมถึงตลาดเอเชียและยุโรป โดยใช้เส้นทางขนส่งสายใหม่ที่เชื่อมท่าเรือไทย อ่าวเป่ยปู้จีนแผ่นดินใหญ่ เอเชียตะวันตก และเอเชียกลาง

           4.กระชับความร่วมมือทวิภาคีหลากหลายด้านในเชิงลึก ในด้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทางฝ่ายจีนได้เสนอให้ฝ่ายไทยร่วมให้การสนับสนุนบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องรวมถึงการสนับสนุนให้บริษัทจีนมีโอกาสได้รับเหมาก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอื่นๆของไทยตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ EEC ของไทยมากขึ้น รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความร่วมมือกันเช่น นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ฉงจั่ว ซึ่งมีบริษัทจากจีนและไทยเข้าไปลงทุนแล้ว 97บริษัท ให้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับความร่วมมือทวิภาคีด้านกำลังการผลิต เศรษฐกิจ และการค้าเป็นต้น

           ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กว่างซีกับประเทศไทยได้กระชับความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-จีนในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีกับประเทศไทยอยู่ที่ 9,100ล้านหยวน (หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 96.26%

           ขณะที่บริษัทก่อสร้างชั้นนำของกว่างซีGuangxi ConstructionEngineering Group ได้จับมือร่วมทุนกับกลุ่ม CP ของไทยในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมCPGC ที่จังหวัดระยอง  นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้ก่อสร้างสายการผลิตน้ำตาลชั้นนำของโลกโดยได้รับเหมาก่อสร้างโครงการโรงงานน้ำตาล 2 โรงในประเทศไทยที่มีมูลค่าสัญญารวมกันมากกว่า2,300 ล้านหยวน (หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท)

           ภายใต้กรอบความร่วมมือ"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"ทั้งสองฝ่ายยังได้สร้างการเชื่อมโยงเส้นทางติดต่อระหว่างกันทั้งเส้นทางการขนส่งทางบก ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยจำนวนมากเข้าสู่ตลาดจีนโดยผ่านเส้นทางขนส่งทางบก ไทย - ลาว - เวียดนาม - และด่านผิงเสียงของกว่างซี  

           ด้านการขนส่งทางน้ำ มีเรือขนส่งที่วิ่งระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีกับท่าเรือแหลมฉบังจากท่าแหลมฉบังถึงท่าเมืองชินโจวใช้เวลาเพียง 4 วัน  ช่วยลดทั้งระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์

           ในเดือนพ.ค.2562 Guangxi Beibu Gulf International PortGroup ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ PSA Singapore Group จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนโครงการทรัพยากรท่าเรือที่มีคุณภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการแรกที่จะลงทุนเป็นโครงการท่าเรือแม่น้ำTPT ของประเทศไทย

           ในด้านการขนส่งทางอากาศ มีเที่ยวบินตรงจากเมืองหนานหนิง-กรุงเทพฯขยายเพิ่มขึ้น 29 เที่ยวต่อเดือน ในด้านการสื่อสาร บริษัท China-ASEAN Information Harbor กำลังร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมของไทยเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบหลอมรวมในประเทศไทย และผลักดันความร่วมมือด้านInternet of Humans,Internet of Things และอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่

           นอกจากนี้ กว่างซีและไทยยังมีการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน โดยในปี 2561ได้มีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นไทย5 คนเข้ามาทำงานวิจัยระยะสั้นที่กว่างซี โดยงานวิจัยครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกษตรสมัยใหม่ และสุขภาพ เป็นต้น

           ขณะที่ด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมีการจับคู่ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดต่างๆของไทยกับกว่างซีจำนวน 10 คู่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3  ของการจับคู่เมืองพี่เมืองน้องทั้งหมดระหว่างจีนกับไทยอีกทั้ง 2 ฝ่ายยังต่างเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญซึ่งกันและกันสำหรับการเดินทางเพื่อศึกษาต่อและการท่องเที่ยว

           ในปี2561  มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ในกว่างซีทั้งสิ้นจำนวน2,835 คน สูงเป็นอันดับที่ 2 ในบรรดาอาเซียน 10 ประเทศ  ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจากกว่างซีหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่กว่างซีในปีที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 111,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปกว่างซี จำนวน 6 หมื่นคนเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.9%

Tags:
No items found.