หัวเว่ยร่วมมืออีอีซี เปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทย
15
November
2024
19
March
2021
หัวเว่ยลงนามความร่วมมือกับอีอีซี เปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทยตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ตั้งเป้าอีก 3 ปีผลิตบุคคลากรด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 30,000 คน รองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ (Talent ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G” โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน พร้อมด้วย หยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
“ หัวใจสำคัญของ MOU ครั้งนี้คือการดึงหัวเว่ยซึ่งมีความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ 5G เข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย” คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าว โดยกรอบความร่วมมือที่สำคัญใน MOU ร่วมกับหัวเว่ยครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
- สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย
- สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ไปเกิดประโยชน์สูงสุด
- การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี
- สร้างการรับรองมาตรฐาน (Certification) อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย
“ เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล 10,000 คนต่อปี ทำให้ในอีก 3 ปีหรือเมื่อถึงปี 2567 ประเทศไทยจะมีบุคลากรด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 30,000 คน โดยจะมีการฝึกอบรมทั้งรูปแบบระยะสั้นและระยะยาวให้กับบุคลากรที่ทำงานในภาคต่างๆ และในอนาคตจะขยายไปจนถึงหลักสูตรระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ อีกกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาร่วมกับหัวเว่ย คือ การดึงคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆมาฝึกอบรมเพื่อสร้างให้เป็นสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์ในอนาคต” เลขาธิการอีอีซีกล่าว
ด้าน อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในเมืองไทยระยะยาว ภายใต้พันธกิจ “เติบโตในประเทศไทย ต้องคืนกลับประเทศไทย”(Grow in Thailand, Contribute to Thailand) เราไม่ต้องการต้องการเป็นแค่คู่ค้าในด้านเทคโนโลยี แต่พร้อมจะเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาสู่ทุกคน ทุกองค์กร เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน
การลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G .ในอีอีซี โดยประเทศไทยได้เปิด Huawei ASEAN Academy ต่อจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ของไทยได้ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) คู่ไปกับการเพิ่มทักษะ 5G ในอีอีซี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในอนาคตจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ โดยใช้ Huawei Academy ที่อีอีซีเป็นต้นแบบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ประกาศลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย โดยในปี 2018 หัวเว่ยได้ลงทุนตั้ง Data Center แห่งแรกในอีอีซี และมีแผนลงทุนเพิ่มอีก 700 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อขยาย Data Center แห่งที่ 3
เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการสร้างศูนย์พัฒนา 5G แห่งแรกในอาเซียน (5G Ecosystem Innovation Center : EIC) ในประเทศไทย เพื่อผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี 5G ผสานความร่วมมือของทั้งระบบนิเวศ และล่าสุด คือ ความร่วมมือกับอีอีซีในการลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรดิจิทัลให้กับประเทศไทย ด้วยการตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี สนับสนุนสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน