เปิดสำนักงานฯส่งเสริมการค้า‘เซินเจิ้น’ในไทย หนุนความร่วมมือการค้า-พร้อมเดินหน้า Mini-FTA
12
September
2024
17
December
2021
เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับ “สำนักงานประสานงานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้น ประจำประเทศไทย” และ “ศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าจากผู้ประกอบการนักธุรกิจเขตเซินเจิ้น” ซึ่งก่อตั้งโดยความริเริ่มของสมาคมนักธุรกิจเซินเจิ้นประเทศไทย และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเมืองเซินเจิ้น (CCPIT Shenzhen) โดยได้รับเกียรติจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ สมาคมนักธุรกิจเซินเจิ้นประเทศไทย อาคาร TCT Group พัฒนาการ 20
นับหนึ่งเดินหน้า Mini-FTA ไทย-เซินเจิ้น
การเปิดสำนักงานฯส่งเสริมการค้า ‘เซินเจิ้น’ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยและเซินเจิ้นแล้ว ยังถือเป็นการนับหนึ่งเดินหน้าจับคู่เจรจาทำข้อตกลงการค้าระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับเมืองเซินเจิ้น หรือที่รองนายกฯจุรินทร์ขอใช้คำเรียกง่ายๆว่า “Mini-FTA” ตามนโยบายการสร้างพันธมิตรกับจีน โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ผ่านการแสวงหาความร่วมมือโดยบูรณาการศักยภาพของทั้งสองฝ่าย ทั้งในรูปแบบความตกลงทางการค้า หรือความร่วมมืออื่นใดตามความเหมาะสม ซึ่งรวดเร็วกว่าการเจรจาเต็มรูปแบบ และสามารถตอบโจทย์ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน
รองนายกฯจุรินทร์ กล่าวว่า เซินเจิ้นถือเป็นเมืองลำดับต้น ๆ ที่มีศักยภาพที่จะร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโซล่าร์เซลล์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ขณะที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นทั้งในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์
ความร่วมมือระหว่างกันจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเซินเจิ้นมีความเชี่ยวชาญในฐานะที่เป็นฐานการผลิต มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น รวมทั้งจะช่วยขยายตลาดตามแนวเส้นทาง Belt and Road ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกันได้อีกด้วย และประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะเป็นสะพานเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือสู่อาเซียน
“ผมขอถือโอกาสให้วันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ กับประเทศจีนโดยเมืองเซินเจิ้น ในรูปแบบ Mini-FTA ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากันในเบื้องต้นแล้ว เพื่อให้พี่น้องชาวไทยและชาวจีนได้ขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นที่เราได้นำร่อง Mini-FTA ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับไห่หนานของจีนไปแล้วเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
ผมมั่นใจว่า สำนักงานประสานงานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้น ประจำประเทศไทย จะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจการค้าไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ และหวังว่าสำนักงานฯ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ Mini-FTA หรือความร่วมมือระหว่างไทย-เซินเจิ้น ประสบความสำเร็จ และมีการลงนามในอนาคตอันใกล้”
ทั้งนี้ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย – จีน มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างยิ่ง โดย 10 เดือนแรกของปี 2564 การค้าไทย-จีน มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.68 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.95 และเซินเจิ้นยังเป็นหนึ่งในด่านที่สำคัญที่นำเข้าผลไม้ของไทยสู่จีนแผ่นดินใหญ่
เซินเจิ้นพร้อมดึงบริษัทชั้นนำลงทุนไทย
ด้าน หวง หมิ่น รองนายกเทศมนตรีเมืองเซินเจิ้น กล่าวว่า จีนและไทยเปรียบเสมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เป็นพันธมิตรที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆที่ธุรกิจเซินเจิ้นเลือก เมื่อต้องการออกสู่ตลาดต่างประเทศ
ในช่วง 10 เดือน ( ม.ค.-ต.ค.2564) มูลค่าการค้าระหว่างเซินเจิ้นกับไทยอยู่ที่ 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.6% ทั้งสองฝ่ายร่วมมือโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน จนนำมาสู่การเติบโตสวนกระแสโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า
ทั้ง 30 บริษัทแรกที่เข้ามาร่วมในศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าเซินเจิ้นที่นี่ ล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมใหม่เช่นเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ พวกเราพร้อมจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนชั้นนำของเมืองเซินเจิ้น เช่น หัวเว่ย เข้ามาลงทุนสร้างกิจการในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมและการฝึกอบรมบุคลากรมีความสามารถของประเทศไทย ขณะเดียวกันจะเพิ่มการติดต่อประสานงานกับภาคส่วนต่างๆของไทยผ่านสำนักงานประสานงานเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้นประจำประเทศไทย
ชองทอง ซิ นายกสมาคมนักธุรกิจเซินเจิ้นประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และส่งผลต่อการขยายการลงทุนในไทยของบริษัทจีนในระดับหนึ่ง แต่ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ไทย สถานทูตจีนประจำประเทศไทย รัฐบาลเมืองเซินเจิ้น หอการค้าไทย-จีนและความร่วมมือจากภาคธุรกิจของเซินเจิ้น ทำให้เกิดความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกันมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ไอที เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเกษตรกรรม
ในปี 2564 พวกเรารวบรวมเครือข่ายนักธุรกิจจากเซินเจิ้นได้มากกว่า 300 บริษัท จัดนิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายโปรโมทภาพลักษณ์เมืองสากลน่าอยู่และน่าลงทุนของเมืองเซินเจิ้นสู่สายตาชาวไทย เราได้ร่วมต่อสู้กับโควิด-19ไปด้วยกันกับชาวไทย โดยการบริจาคเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าจากเซินเจิ้นขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นพาวิลเลียนแสดงสินค้าเซินเจิ้นที่ไม่มีวันหยุดแห่งแรกของโลก แก้ปัญหาต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำของการเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าระหว่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นช่องทางให้ธุรกิจจากเซินเจิ้นสามารถเข้าถึงตลาดไทยและอาเซียนโดยตรงได้มากขึ้น
สำหรับศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าเซินเจิ้นที่จัดพิธีเปิดในครั้งนี้ มีโถงจัดแสดงแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนออนไลน์และโซนออฟไลน์ โดยจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเซินเจิ้น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และบริการที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน หัวเว่ย, SUPCON, CSG Holding, หมิงเข่อต๋า (MKD GROUP), OPPO และบริษัทอื่นๆจากเซินเจิ้นได้เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ฯแล้ว โดยในช่วงปลายปี 2565 “สำนักงานประสานงานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้น ประจำประเทศไทย” และ “ศูนย์เจรจาการค้าและนิทรรศการสินค้าจากผู้ประกอบการนักธุรกิจเขตเซินเจิ้น”จะย้ายสถานที่ตั้งไปยัง“อาคารเซินเจิ้น”แห่งใหม่ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่พรั่งพร้อมด้วยศูนย์นิทรรศการและการประชุม อาคารสำนักงาน พื้นที่ Co-working Space และบริการต่างๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ โดยสำนักงานประสานงานเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเซินเจิ้นประจำประเทศไทยจะเป็นทั้งศูนย์รวมของผู้ประกอบการเซินเจิ้นในประเทศไทย และมีบทบาทสำคัญในการนำธุรกิจไทยเข้าสู่เซินเจิ้น และเสริมแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับความร่วมมือข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ระหว่างสองประเทศ