Movement

‘ไทย-เซินเจิ้น’ ลงนาม Mini FTA ตั้งเป้าดันมูลค่าการค้าทะลุ 9.1 แสนล้าน ภายใน 2 ปี

12

September

2024

1

March

2023

เซ็นแล้ว ! Mini FTA ‘ไทย-เซินเจิ้น’ ความตกลงร่วมมือการค้ารูปแบบใหม่ เชื่อมการค้าไทย-จีน ลงลึกระดับเมือง และมณฑล ที่คาดว่า จะช่วยหนุนให้การค้าระหว่างไทยกับเซินเจิ้น เติบโตทะลุ 9.1 แสนล้านบาท ภายใน 2 ปี

        ดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของไทย กับ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน คณะกรรมการเทศบาลเมืองเซินเจิ้น (CCPIT Shenzhen) โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 มี.ค.2566 พร้อมด้วย หวัง ลี่ผิง อัครราชทูต(ที่ปรึกษา)ฝ่ายการพาณิชย์ของจีน ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์

        รองนายกฯ จุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความร่วมมือเขตเสรีทางการค้าหรือ FTA ทั้งหมด 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และ Mini FTA อีก 6 ฉบับ ประกอบด้วย โคฟุ ปูซาน คยองกี เตลังกานา และของจีน 2 ฉบับ คือ ไห่หนานและกานซู่ โดยการลงนาม Mini FTA กับเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ครั้งนี้ ถือเป็นฉบับที่ 3 กับจีน และในเร็วๆนี้ จะมีการลงนามกับมณฑลยูนนานในลำดับถัดไป  

        นโยบายที่มอบให้กระทรวงพาณิชย์ คือ ความร่วมมือเขตเสรีทางการค้าฉบับใหญ่ หรือ FTA ยังไม่เพียงพอ ถึงเวลาที่เราต้องใช้นโยบายเชิงรุก เชื่อมการค้าลงลึกกับจีน ในระดับรายมณฑล รายเมือง

 

       “ ปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับเซินเจิ้นมีมูลค่าอยู่ที่ 868,000 ล้านบาท โดยหลังจากลงนาม Mini FTA ระหว่างกัน คาดว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มการค้าการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันการค้าระหว่างไทย-เซินเจิ้น ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นภายใน 2 ปี (2566-2567)อย่างน้อย 5%  เป็น 910,000  ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 43,000 ล้านบาท” รองนายกฯจุรินทร์ กล่าว

        “เซินเจิ้น” เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ3 ของจีนรองจากเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ขนาดเศรษฐกิจของเซินเจิ้นเมืองเดียว มีมูลค่า GDP เกือบเท่าไทยทั้งประเทศ

        เป็นเมืองยุทธศาสตร์เชื่อมมณฑลกวางตุ้งฮ่องกงและมาเก๊า ศูนย์รวมเศรษฐกิจด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (Greater Bay Area) และเป็นที่รวมของธุรกิจใหม่ที่รวมของนวัตกรรม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจีน

         หลายบริษัทชั้นนำของจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ล้วนแล้วแต่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเซินเจิ้น อาทิ หัวเว่ย , BYD , OPPO, Tencent

        ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเซินเจิ้น มีความเชี่ยวชาญในฐานะที่เป็นฐานการผลิต มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น รวมทั้งจะช่วยขยายตลาดตามแนวเส้นทาง Belt and Road ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกันได้อีกด้วย

Tags:
No items found.