'หอการค้าฯ'จับมือ'สถานทูตจีน' จัดงาน 'Thailand - China Investment Forum' หนุนจีนลงทุนไทยฟื้นเศรษฐกิจ
7
May
2024
4
November
2022
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดงาน “Thailand– China Investment Forum” เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน พร้อมระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีความแน่นแฟ้น มีพลวัตทุกระดับ จีนถือเป็นคู่ค้าและคู่มิตรที่สำคัญของไทย และในปี 2565 นี้ถือเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของความเป็น“หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 และรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ของสถานการณ์โลกปัจจุบัน รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลจีนเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนสู่ทศวรรษหน้าในทุกมิติ นอกจากนี้ ไทยได้สนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลจีน ตามแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (GlobalDevelopment Initiative: GDI) ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCGของไทย และพร้อมส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(Belt and Road Initiative: BRI) รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)เพื่อดึงดูดกิจการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมาลงทุนในไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมไร้รอยต่อ สอดคล้องกับการยกระดับการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน แสดงให้เห็นความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีนในสาขาที่จีนมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากจีน มีมูลค่าการลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของการลงทุนระหว่างไทยกับจีนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน – ลาว กับระบบรางของไทย จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดประโยชน์นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอนุภูมิภาคอย่างแม่โขง –ล้านช้าง ACMECS GMS และระดับภูมิภาค อย่างอาเซียน – จีน การขยายความร่วมมือภายใต้ BRICS Plus ที่จีนริเริ่ม รวมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่งคงและยั่งยืน ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลก
นำเสนอผลการศึกษา
6 อุปสรรคการลงทุนของจีนในไทย
ด้านสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นำโดยเอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียง จัดงาน “Thailand –China Investment Forum” ขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรก ไฮไลท์ที่สำคัญของงานนี้คือการนำเสนอผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค ความท้าทายและโอกาสในการส่งเสริมการค้าการลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-จีน ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ จัดตั้งคณะทำงาน TaskForce ไทย-จีน ร่วมกัน และได้มอบหมายให้ศูนย์จีนศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยยูนนาน ร่วมกันทำการศึกษา
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดรผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถิติการจัดอันดับการลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศ 20 อันดับแรกระหว่างปี 2016 - 2020 พบว่า ในปี 2016 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่19 แต่ในปี 2020 ไทยได้เลื่อนขึ้นเป็นลำดับที่ 9 และหากพิจารณาเฉพาะประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยได้เลื่อนจากอันดับที่5 ในปี 2016 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2020 ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จของกรอบความร่วมมือ RCEP , ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง,ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และการผลักดัน EEC ทำให้การลงทุนของจีนในไทยมีแนวโน้มที่สดใสขึ้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การลงทุนของจีนในไทยยังประสบอุปสรรคและความท้าทายบางประการ ดังนี้
1. ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ได้แก่ ปัญหาช่องทางการเข้าถึงข้อมูล,อุปสรรคด้านภาษา, นักลงทุนจีนส่วนหนึ่งยังไม่รู้จัก BOI ซึ่งมีการจัดตั้งสำนักงานอยู่ในปักกิ่ง กวางเจา และเซี่ยงไฮ้ เพื่อช่วยเหลือและให้ข้อมูลการลงทุนในไทย
2. ปัญหาการซื้อที่ดินของนักลงทุนจีน แม้นโยบายที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแต่นโยบายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางประการและไม่มีความชัดเจน เช่น จำนวนเงินลงทุน, จำนวนที่ดิน, วัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน, ลักษณะการลงทุน ฯลฯ
3. ปัญหาอุตสาหกรรมบางประเภทมีอุปสงค์ในไทยต่ำ รูปแบบแรก คืออุปสงค์ต่ำเพราะความต้องการการบริโภคน้อย เช่น อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, รูปแบบที่สอง คือ อุปสงค์ต่ำ เพราะมีการผูกขาดในตลาดของผู้ผลิต เช่น การก่อสร้าง, อุตสาหกรรมยา, โครงข่ายโทรคมนาคม และรูปแบบสุดท้ายคือ อุปสงค์ต่ำ เพราะมีการดำเนินอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวจำนวนมากจนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งหมดแล้ว เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร, อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
4. ปัญหาด้านแรงงาน ประกอบด้วย ปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ, แรงงานขาดทักษะด้านภาษาและความรู้เฉพาะทาง, อัตราค่าจ้างแรงงานสูงเป็นต้น ปัจจุบันอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวันส่งผลให้นักลงทุนจีนแบกรับต้นทุนที่สูงกว่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
5. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของไทยจะดีกว่าบางประเทศในอาเซียนแต่ในภาพรวมยังไม่ครอบคลุมและไม่เชื่อมโยง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศแม้ภาครัฐจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ล่าช้าออกไป
6. กฎระเบียบไม่ชัดเจน กฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ของไทยยังมีความซับซ้อนบางข้ออาจจะเก่าและไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ กฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนบางอย่างยังคงเป็นภาพกว้างไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักลงทุนจีน
ด้านศาสตราจารย์ โจ ชุนเหมิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยูนนานกล่าวเสริมว่า จากการศึกษาคณะทำงานฯ ของสองประเทศ ได้นำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนให้มากขึ้น ประกอบด้วย
1. การปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน จัดตั้งและปรับปรุงกลไกการเจรจาในระดับทางการ, กำหนดกรอบความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไทย-จีน,เร่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน, จัดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนทั้งภาษาจีนและภาษาไทย, จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจไทย-จีนเชื่อมโยงวิสาหกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ, ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรมรวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และระหว่างหอการค้าไทยและจีน
2. ขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการลงทุนของจีนในไทย โดยสอดประสานกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และ EEC, ใช้ประโยชน์จาก RCEP, การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชั่น 3.0, การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง และการเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว เพื่อขยายการลงทุนของจีนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการขนส่งโลจิสติกส์ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายและยุทธศาสตร์ประเทศ อย่างอุตสาหกรรมพลังงานใหม่นวัตกรรมใหม่ วัสดุใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์
3. ขยายความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เร่งผลักดันความร่วมมือด้านนิคมอุตสาหกรรมระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-จีน โดยอาจอาศัยประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว พิจารณาสร้างนิคมอุตสาหกรรมสามประเทศ(ไทย-จีน-ลาว) บริเวณพื้นที่บ่อเต็นของ สปป.ลาว หรืออาจพิจารณาโมเดลความร่วมมือในลักษณะ “สองประเทศสองนิคมฯ” (ไทย-จีน) ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาร่วมกัน บริหารงานและแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน
4. กระชับความร่วมมือไทย-จีนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน, ฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน,เน้นฝึกอบรมทักษะด้านภาษา เพื่อผลิตบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและจีน รวมทั้งมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแนวทางการพัฒนาสภาพสังคมและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี, สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและวิสาหกิจระหว่างไทยและจีน, สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนการศึกษาของภาคเอกชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนเพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด
5. ปรับปรุงระบบบริการข้อมูลการลงทุน โดยพัฒนาระบบบริการแบบครบวงจรของไทย, จัดตั้งหน่วยงานกลางที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน BOI คอยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐกับเอกชนแบบครบวงจร,จัดทำบัญชี WeChat สำหรับการลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ, ใช้ภาษาจีนเพื่อสื่อสารนโยบายที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนการลงทุน, จัดงานสัมมนาการลงทุนการบรรยายและฝึกอบรม เพื่อแนะนำนโยบายการลงทุนของไทยแก่นักลงทุนชาวจีน, ขยายสาขาของBOI ในประเทศจีนเพิ่มขึ้น, ประสานความเชื่อมโยงและความร่วมมือของหน่วยงานถาวรของรัฐบาลไทยในจีนและเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการลงทุนของประเทศไทย
อนึ่ง งาน Thailand – China Investment Forum เป็นการริเริ่มที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยความร่วมมือจากประเทศจีนซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนรวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของทั้งไทยและต่างประเทศซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชนและเป็นแนวทางให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในไทย