เปิดตำนาน 110 ปี “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”
24
September
2024
26
January
2022
นอกจากงานด้าน“อาสากู้ภัย”และ“เก็บศพ”แล้ว เรารู้จัก“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”ดีแค่ไหน?...
เส้นทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรสาธารณกุศลที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 110 ปี ถักร้อยไปด้วยเรื่องราวของพลังศรัทธา ความผูกพันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน การส่งต่ออุดมการณ์ความดีจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีรากฐานมาจากความศรัทธาต่อหลวงปู่ไต้ฮง(ไต้ฮงกง)พระเถระนักสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยเหลือคนยากไร้และคนตายไร้ญาติ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่มาหลายร้อยปี
ตามประวัติที่เล่าขานต่อกันมา รูปจำลอง‘ไต้ฮงกง’ได้รับการอัญเชิญมาเมืองไทย เมื่อปี 2439 โดยชาวจีนแต้จิ๋วนาม “เบ๊ยุ่น” ที่ลงเรือสำเภาพร้อมกับผู้อพยพชาวจีนคนอื่นๆ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” บนแผ่นดินไทย ด้วยแรงศรัทธาในบารมีของไต้ฮงกงที่คุ้มครองให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย โดยตั้งปณิธานว่าจะกลับมา“สนองคุณ”เมื่อลืมตาอ้าปากได้ชีวิตใหม่
“ เส้นทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรสาธารณกุศลที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 110 ปี ถักร้อยไปด้วยเรื่องราวของพลังศรัทธา ความผูกพันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน การส่งต่ออุดมการณ์ความดีจากรุ่นสู่รุ่น”
ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) และพ่อค้าคหบดีชาวจีน 12 คน ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างกุศลสถาน“ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นที่ถนนพลับพลาไชย เพื่อประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงให้ประชาชนได้สักการะบูชา พร้อมทั้งดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกด้าน โดยเฉพาะการเก็บศพไร้ญาติตามธรรมเนียมจีน จนเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กรการกุศลในนาม “คณะเก็บศพไต้ฮงกง”
ต่อมาปี 2480 จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อเต็มว่า“มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” ดำเนินกิจการเคียงข้างสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยเงินบริจาคจากผู้จิตศรัทธา นำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เริ่มตั้งแต่การเก็บและฝังศพอนาถา ตั้งสถานผดุงครรภ์หัวเฉียวและโรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อมายังได้ขยายความช่วยเหลือไปสู่งานสงเคราะห์การศึกษาในนาม “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งถือเป็นองค์กรสาธารณกุศลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นต้นแบบของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่สังกัดสมาคมชาวจีนทั่วประเทศ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจากอดีตถึงปัจจุบัน ล้วนสืบทอดตำแหน่งโดยผู้นำนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มีบทบาทกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น เหียกวงเอี่ยม ต้นตระกูล”เอี่ยมสุรีย์” ประธานคนแรก, เตียลั่งชิ้น หรือ สหัท มหาคุณ, ตันจินเก่ง หรือ จิตติน ตันธุวนิตย์, ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์, ดร.สมาน โอภาสวงศ์ จนส่งต่อมาถึงประธานฯคนปัจจุบัน คือ ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์
“ป่อ แปลว่าตอบแทน เต็ก แปลว่าสัจธรรมหรือคุณธรรม เซี่ยง คือความดี ตึ๊ง คือสถานที่ รวมกันเป็นสถานที่ประกอบคุณงามความดีเพื่อตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน ชื่อเต็มๆ ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง ที่เราไปจดทะเบียนเป็นทางการ ฮั่วเคี้ยว คือ คนจีนโพ้นทะเล แต่เพื่อให้สั้นก็เลยเรียกว่า ป่อเต็กตึ๊ง คนเลยจำได้แค่ว่า ป่อเต็กตึ๊ง เพราะฉะนั้นคำว่า ความดีที่ยั่งยืน ก็มาจากคำว่า ป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯเล่าถึงความหมายของชื่อ“ป่อเต็กตึ๊ง”
ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งปี เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “ความดีที่ยั่งยืน” พร้อมทั้งเปิดหอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยภายในแบ่งเป็น 7 ห้อง จัดแสดงนิทรรศการบันทึกประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มต้นจากการกำเนิดของคณะเก็บศพไต้ฮงกง จนพัฒนามาเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง การช่วยเหลือชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย การเก็บศพไร้ญาติ และอื่นๆ ตลอดจนภารกิจของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในยุคปัจจุบัน และหน่วยงานในเครือ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงงานบรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ข้อมูลสุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประเพณีเทกระจาด รวมทั้งประติมากรรม “เสียง” สัญลักษณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อันหมายถึง การทำบุญกุศล สานต่อความดี เพื่อสนองคุณแผ่นดิน
หอประวัติแห่งนี้นับเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ และรวบรวมเรื่องราวความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่พร้อมจะส่งต่อพลังศรัทธา และแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อไปในการสานต่อ หยั่งราก แผ่กิ่งก้านความดีแก่สังคมไทยสืบไป