Highlight

นครเซี่ยงไฮ้โรดโชว์ไทย  ชูแผนพัฒนาเขตพิเศษหลินกั่ง เปิดประตูโอกาสการค้าการลงทุนไทย-จีน

15

February

2024

4

May

2023

        เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ นำโดย นายกง เจิ้ง (Gong Zheng) นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของนครเซี่ยงไฮ้ เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จัดงาน “ลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต” ณ โรงแรมแชงกรี - ลา กรุงเทพฯ  โดยมีนักธุรกิจไทย – จีน เข้าร่วมงานสัมมนากว่า300 คน  และได้รับเกียรติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวเปิดงาน

นครเซี่ยงไฮ้ดึงนักลงทุนต่างชาติหนุนเศรษฐกิจโตสูง 9%

พร้อมพัฒนาเขตหลินกังเป็นเขตการค้าเสรี

        ภายในงาน นายกง เจิ้ง นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวแนะนำยุทธศาสตร์การพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ โดยเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นถึงเสน่ห์และโอกาสในการพัฒนาของเซี่ยงไฮ้พร้อมทั้งยังกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วโลกไปลงทุนที่เซี่ยงไฮ้และจับมือกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

กง เจิ้ง นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ ( Photo : Lingang Group)

   

        มหานครเซี่ยงไฮ้ มีเนื้อที่ 6,340 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการเงิน โลจิสติกส์ แฟชั่น และนวัตกรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่ “นำร่อง” ที่ใช้ทดสอบทดลองนโยบายสำคัญของจีน อาทิการปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เขตการค้าเสรี (FreeTrade Zone) และงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo)

        ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ได้ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยหนึ่งในพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ เขตพิเศษ“หลินกั่ง” (Shanghai Lin-gang Special Area) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ มีเนื้อที่ 873 ตารางกิโลเมตร ติดกับชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันออก

        หลินกั่ง ถูกกำหนดให้เป็น FTZ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสิทธิประโยชน์พิเศษส่งเสริมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดสรรทรัพยากรทั่วโลกอย่างมีศักยภาพ และดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน อาทิ HSBC และธนาคารกสิกรไทย

        นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในด้านยา ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ การบินพลเรือน EV อุปกรณ์ที่ทันสมัย วัสดุใหม่ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุน 220,000 ล้านหยวน มูลค่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 263,400 ล้านหยวน โดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ TESLA ที่ผลิตและส่งมอบแล้ว 760,000 คัน

        นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเครื่องบินพลเรือน C919 และการบริหารจัดการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยมีบริษัทเดินเรือ4 บริษัท บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหม่ 12 แห่งมาตั้งบริษัทสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้และใช้ท่าเรือหยางซานพัฒนาเป็นเขตปลอดภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างชาติเข้าจะเข้ามาลงทุนในการค้าออนไลน์

        ปัจจุบัน หลินกั่งอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์ Big Data ระดับสากลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล

เขต“หลินกั่ง” นครเซี่ยงไฮ้ (Photo : Invest Shanghai)

        ด้วยศักยภาพความพร้อมดังกล่าวและการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้พื้นที่หลินกั่งในปี 2022 มีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่า 40% และสามารถดึงดูดการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เติบโต 9%จาก 5.5% ของปีก่อน โดยเฉพาะ TESLA ตั้งแต่เริ่มตั้งสายพานการผลิต และการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นข้อพิสูจน์ว่า นครเซี่ยงไฮ้มีการดำเนินการจนเป็นที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้เข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้เมื่อกว่า 4ทศวรรษที่ผ่านมาก็มีแผนจะขยายการลงทุนในเขตหลินกั่ง

บีโอไอจับมือเซี่ยงไฮ้ลงทุนไทย -จีน

ผลักดันพื้นที่เป้าหมาย- อุตสาหกรรมอนาคต

          ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวถึงโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับเซี่ยงไฮ้ว่า “ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียนใกล้ประเทศจีน มีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในอนาคตอาจจะเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้

        นอกจากนี้ ไทยยังมีความแข็งแกร่งด้านซัพพลายเชน อุตสาหกรรมสนับสนุน บุคลากรที่มีคุณภาพ มาตรการสนับสนุนของรัฐและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ จึงมีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์อย่างยิ่งที่จะเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตสูง รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีRCEP ที่ไทยทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ 15 ประเทศได้ด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

        ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน โดยนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเป็นอันดับหนึ่งในช่วงก่อนโควิด มีจำนวน 11 ล้านคน ปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับมาท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

        ในด้านการค้า จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของมูลค่าการค้ารวมขณะที่ด้านการลงทุน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยในปี 2565 จีนขึ้นมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 18 ของการลงทุนโดยรวม และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนมีการยื่นคำขอลงทุนในไทยมูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัลและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

   

     สำหรับเซี่ยงไฮ้ถือเป็นมหานครที่มีประชากรและขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นมหานครอันดับ 6ของโลก ในปี 2565 จีดีพีอยู่ที่ 22.5 ล้านล้านบาท (4.47 ล้านล้านหยวน)มีการพัฒนาเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการเป็นผู้นำนวัตกรรมและฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่

        นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้ได้ผลักดันการพัฒนาเขตต่าง ๆให้เป็นพื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะเขตพิเศษหลินกัง (ShanghaiLin-gang Special Area) ที่เน้นส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

        เป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทไทยหลายรายที่ได้เข้าไปลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้และเมืองใกล้เคียงเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ปตท. สหยูเนี่ยน สามมิตร เครือดุสิตธานีและสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นต้น

คิดถึงการลงทุนในจีน ต้องนึกถึงนครเซี่ยงไฮ้อันดับแรก

        นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว่า สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างไทยและจีนมาแล้วร่วม 40 ปี   “เมื่อคิดถึงการลงทุนในประเทศจีน ต้องนึกถึงนครเซี่ยงไฮ้ก่อนเป็นลำดับแรก” ซึ่งมีหลายบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมของเราได้เข้าไปลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้แล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ บริษัทชั้นนำของไทย อย่างเครือซีพี

ธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

           

        ขณะเดียวกัน รถยนต์เอ็มจี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอสเอไอซี มอเตอร์ จากนครเซี่ยงไฮ้ กับ เครือ ซีพี ของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรายิ่งมีความมั่นใจต่อการลงทุนใน นครเซี่ยงไฮ้

           จนขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเกือบ 900 บริษัท ได้มาตั้งสำนักงานใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ และยังมีอีกกว่า 530 บริษัทเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา

           เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านครเซี่ยงไฮ้มีความน่าสนใจที่ต้องพิจารณาถึงเป็นพิเศษสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ นับตั้งแต่ดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ จนทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในฐานะเมืองที่ทันสมัยที่สุดจนมีฉายาว่า “นครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมในทุก 3 ปี”

           ในปี 2565 GDP ของนครเซี่ยงไฮ้สูงถึงกว่า 650,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมาตรฐานการดำรงชีพของชาวเซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูงสุดในประเทศจีน

           ในโอกาสการจัดงาน“ลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต” ณ ประเทศไทย ครั้งนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันของ 14 บริษัทและองค์กรชั้นนำ ซึ่งครอบคลุม 6โครงการที่สำคัญ ได้แก่

           1. รถยนต์พลังงานใหม่ BGAC/ Neta  

           2. ด้านการเงินKasikorn Bank/ Lingang Shanghai

           3.ธุรกิจอัญมณี Yong Tai Gems/ Donghao LanshengGroup

           4.ด้านธุรกิจนำเข้า-ส่งออกผลไม้สด Mr. Fruity/ OrientInternational (Holding) Co., Ltd.

           5.ด้านการแพทย์ Rui Jin Hospital / Chinese Academyof Science Bangkok Cooperation Center/ Mahidol University

           6.ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน Thai Chamber ofCommerce in China/ Thai-Chinese Promotion of Investment and Trade Association/Invest Shanghai

           อนึ่ง การจัดงาน“ลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต” ร่วมกันระหว่าไทยกับนครเซี่ยงไฮ้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งจากจีนมาสู่ไทย และไทยไปสู่จีน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันตามนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) สู่ภูมิภาคอาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RegionalComprehensive Economic Partnership: RCEP)

Tags:
No items found.